ชายผู้ตัดสินใจเปิดกล่องของขวัญคริสต์มาสอดีตแฟนสาว ที่เขารับมาพร้อมคำบอกเลิก 47 ปีที่แล้ว
10 ธันวาคม 2561, 17:13
ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
13 ตุลาคม 2560, 09:00
ฟ้าร่ำกันแสงโศกพิไรหวน  พระธรณีตีอกครวญสะอื้นไห้ขวัญสะท้านดาลเทวษทั้งแดนไตร  พระเสด็จสวรรคาลัยพิมานพรหมเจ็ดสิบฉนำเนื่องเบื้องบทรัช  สยามพูนพิพัฒน์ภิรมย์สมหวังรองบาทพระขวัญชาติตราบสิ้นลม  กลับตรอมตรมส่งเสด็จพระภูบดินทร์ยินเสียงปี่ไฉนกลองชนะ  ลมหายใจราวจะขาดสะบั้นสิ้นเยียบเย็นทั่วทั้งธรณิน  อัสสุชลไหลรินจากดวงใจจักสั่งสมบุญญาและความดี  นับแต่นี้กว่าชีวาจะหาไม่เดินตามรอยบาทบงสุ์พระทรงชัย  สมที่ได้เกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน ----- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์(Cambridge)รัฐแมสซาซูเซตส์(Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เป็นสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ แล้วสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีต่อมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามลำดับทรงรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”พระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์คือ ๑.ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี๒.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร๓.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมาร พุทธศักราช ๒๔๙๙ มีพระราชศรัทธาทรงพระผนวช ตามคติของพุทธศาสนิกชนไทย เป็นเวลา ๑๕ วัน นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรไทย ตราบถึง วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นเวลา ๗๐ ปี๔ เดือน ๗ วัน กล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาปฏิบัติพระราชกรณียกิจอเนกอนันต์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์ เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นต้นมา ทรงตระหนักในความเป็นอยู่ของราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาที่ทำกินและการดำรงชีพ โดยพึ่งพาธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อน ปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชสมัยมากกว่า ๔,๖๐๐ โครงการ ประจักษ์ว่า พระองค์คือกษัตริย์นักพัฒนายิ่งใหญ่แท้จริง ทรงเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอยู่อย่างสมดุลระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติอันได้แก่ โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการแกล้งดินแก้ปัญหาดินเปรี้ยวโครงการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งธนาคารข้าวธนาคารโคกระบือแก้ปัญหาความขาดแคลน การปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำปลูกป่าด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบกั้นน้ำ เพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งทรัพยากรของประเทศ ตลอดจนพระราชทานแนวพระราชดำริไปยังนานาประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออีกด้วย พระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น องค์การสากลต่างๆได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ปรากฏอย่างแพร่หลายกว้างขวางมาโดยตลอด ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๓ - ๒๕๑๐ เสด็จฯ เยือนมิตรประเทศในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน ๑๔ ประเทศ เป็นการเจริญทางพระราชไมตรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเป็นที่รู้จักในสังคมโลก เพราะมีพระประมุขที่ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และองอาจกล้าหาญ สิ่งสำคัญทรงมุ่งหวังที่จะแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากประเทศที่เจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เช่น การได้รับความร่วมมือจากประเทศเดนมาร์ก ในด้านผลิตฟาร์มโคนม เป็นต้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๑๐ - ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นกำลังใจ แก่ทหารหาญและเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ชายแดนที่ประสบภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเยี่ยมบำรุงขวัญทหาร ตำรวจในพื้นที่สู้รบถึงฐานปฏิบัติการทั่วทุกพื้นที่ โดยมิทรงหวั่นเกรงภยันตรายใดๆ พระราชทานแนวทางให้ปฏิบัติด้วยสันติวิธี ทรงนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้ชายแดนเป็นรั้ว ด้านในเป็นศูนย์พัฒนา เป็นแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ เป็นผลให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ ด้านเกษตรกรรม ทรงคิดค้นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อพึ่งพาตนเอง อย่างเข้มแข็ง เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่”ด้วยแนวพระราชดำริใช้ที่ดินให้ได้ประโยชน์ สูงสุดพุทธศักราช ๒๕๔๐ ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ทรงวางแนวทางการดำเนินชีวิตให้ราษฎร เป็นผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลอย่างมั่นคง ยั่งยืน ด้านการศึกษา ทรงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศทุกๆ ระดับ มีพระราชดำริส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกสาขาแก่เยาวชน และประชาชนอย่างทั่วถึง การศึกษาในระบบโรงเรียนทั่วประเทศตั้งแต่ในเมืองไปถึงถิ่นทุรกันดาร เช่น โรงเรียนจิตรลดา ในภูมิภาค เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ฯลฯ จัดโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและเพิ่มแหล่งศึกษาให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีโอกาสเล่าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง การศึกษานอกระบบ ได้แก่ โรงเรียนพระดาบส และการศึกษาตามอัธยาศัย คือโครงการตามพระราชดำริสาขาต่างๆ จำนวนมาก จัดทำสารานุกรมไทยสำรับเยาวชน และพระราชทานทุนการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น ทุนอานันทมหิดล ทุนมูลนิธิภูมิพล เป็นต้น ด้านศิลปวัฒนธรรม มีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะทุกสาขา ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนง ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์มรดกของชาติทรงส่งเสริมให้คนในชาติตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ มีพระราชดำริฟื้นฟูการถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ และพุทธศักราช ๒๕๐๓ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง แทนองค์เดิมที่ชำรุด โปรดให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานในพระราชฐานชั้นใน ทรงอุปถัมภ์การแสดงโขนละครและศิลปะการแสดงอันเป็นจารีตแบบแผนของชาติ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในการดนตรีทรงพระราชนิพนธ์เพลงที่กล่าวได้ว่าเป็นอมตะเพื่อปวงชนจำนวนมาก เช่น เพลงพรปีใหม่ สายฝน ใกล้รุ่งแสงเทียน ฯลฯ พระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่องพระมหาชนก ทรงแปลเรื่องติโต และนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ด้านศาสนา ทรงเคร่งครัดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงเป็นแบบอย่างที่ล้ำเลิศในการผดุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานถาวรเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดิน ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นๆ ในพระราชอาณาจักรให้พสกนิกรทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีพระราชดำริสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ให้เป็นวัดแบบอย่าง คำนึงถึงประโยชน์ที่สานสัมพันธ์ร่วมกันระหว่าง วัด บ้านและโรงเรียน ที่เรียกว่า “บวร” ให้มีความเรียบง่าย และประหยัด เมื่อใช้ประโยชน์และจัดกิจกรรมร่วมกัน ด้านสาธารณสุข ทรงตระหนักถึงสุขภาพอนามัยประชาชน กำจัดโรคระบาด ที่คุกคามบั่นทอนชีวิตราษฎร ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรค โปลิโอ และโรคติดต่อร้ายแรง สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยทุกวาระอย่หางทันเหตุการณ์ ฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ จัดตั้งหน่วยงานแพทย์หลวง หน่วยแพทย์พระราชทานทั้งทางบกและทางน้ำ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน ก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ดำเนินงานช่วยเหลือในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว ในด้านการแพทย์ส่งเสริมให้ทุนนายแพทย์สาขาต่างๆ ไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ เพื่อนำวิทยาการที่เจริญมาพัฒนาประเทศ ด้านการคมนาคม ทรงวางแผนสร้างถนนเพื่อความมั่นคงของประเทศและพัฒนาบ้านเมือง เส้นทางข้ามภูเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้โดยเฉพาะเส้นทางสายน่าน-ปัว-ทุ่งช้าง-ปอน-ห้วยโกร๋น ในพื้นที่อันตรายที่ผู้ก่อการร้ายขัดขวาง ทั้งทรงแก้ปัญหาจราจรด้วยระบบเครือข่าย ได้แก่ ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก กาญจนาภิเษก โครงข่ายถนนจตุรทิศเหนือ-ใต้ตะวันออก-ตะวันตก รองรับการจราจรข้ามกรุงเทพฯ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสองช่วงที่โดดเด่นสง่างามสะพานแขวนพระราม ๘ ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ดวงมณีดวงประทีป และดวงใจของชาวไทย ทรงแผ่พระมหาบารมีอันบริสุทธิ์ไพศาล ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปวงประชาชาวไทย พระราชทานความรัก ความห่วงใย เปี่ยมด้วยพระเมตตาอันประมาณมิได้ทรงทุ่มเทพระวิริยะ อุตสาหะ พระปรีชาญาณ สร้างความสุขสวัสดิ์ยั่งยืนแก่ประชาชนของพระองค์อย่างมิทรงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ชาติไทยจึงก้าวหน้ารุ่งเรืองเป็นลำดับ ทรงเป็นหลักชัยนำทางแก่ชาติยาวนานถึง ๗๐ ปี๔ เดือน ๗ วัน นับเป็นความวิปโยคสุดอาลัยเมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ชาวไทยทั้งชาติต่างน้อมศิรเกล้ากราบสักการะพระผู้สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”