รักแท้ที่แม้แต่กำแพงทางศาสนา และความแตกต่างของฐานะมิอาจกั้น

14 กุมภา’ วันวาเลนไทน์ “วันแห่งความรัก” ที่กำลังจะถึงในวันพรุ่งนี้แล้ว ข่าวภูเก็ต ขอให้ทุกท่านที่กำลังมีความรักเบ่งบานชูช่อในหัวใจจงมีแต่ความสุข ความเบิกบานในใจ และเสริมเติมต่อความรักความเข้าใจผ่านไปยังคนที่คุณรักให้ตราบนานเท่านาน เพราะความรักมันเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องดับสูญสลายไปได้เช่นกัน

เปรมกมล เกษรา

วันอังคาร ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561, เวลา 09:00 น.

ความรักมันเป็นเรื่องของคน 2 คนก็จริงแต่สำหรับบางคู่ที่ได้ตัดสินใจเดินทางบนเส้นทางเดียวกันนั้น อาจจะต้องเอาชนะอุปสรรคต่างๆ และร่วมกันฝ่าฟันบนหนทางแห่งรัก เพื่อไปให้ถึงยังจุดหมายปลายทางแห่งนั้นที่เป็นของคนทั้งคู่

ดังเช่น ความรักของคุณทินกรและคุณนพรัตน์ จอมเมือง หรือที่รู้จักกันในนาม “บังกอล์ฟและก๊ะสาว” คู่สามี-ภรรยา ที่ยังรักใคร่หวานชื่นแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ความรักของทั้งคู่ไม่ได้ดูจืดจางลงไปแม้แต่น้อย ทั้งคู่ยังคงจับมือและมองตากันด้วยความรักความเข้าใจในกันและกันเสมอมา

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าหนทางที่คนทั้งคู่ต้องร่วมกันฝ่าฟัน กว่าจะถึงวันที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างหวานชื่น ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้ได้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นขวากหนามมากมาย ความลำบาก กำแพงแห่งความแตกต่างทางศาสนา ก็มิอาจก่อตัวกั้นขวางความรักของทั้งคู่ได้ ซึ่งทั้งคู่ยินดีบอกเล่าเรื่องราวบนเส้นทางแห่งรักผ่าน ข่าวภูเก็ต เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกดวงใจที่มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน

ตัดกางเกงยีนส์ให้ขาด

จุดเริ่มต้นของความรักของทั้งคู่เริ่มจากกางเกงยีนส์ตัวหนึ่งเมื่อ 21 ปีที่แล้ว บังกอล์ฟเป็นเด็กรถทัวร์ที่พาแขกมาเที่ยวที่สวนลิงซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวก๊ะสาว วันหนึ่งรถทัวร์เสีย บังกอล์ฟจึงนำรถทัวร์มาซ่อมที่อู่ข้างร้านตัดเย็บเสื้อผ้าของก๊ะสาว ซึ่งก่อนหน้าที่ทั้งคู่เคยเห็นหน้าคร่าตากันมาก่อนแล้ว แต่ไม่คิดอะไร วันหนึ่งบังกอล์ฟเห็นก๊ะสาวที่ร้าน จึงชวนกินข้าว แต่ก๊ะสาวปฏิเสธ วันต่อมา ฝ่ายชายจึงนำกางเกงยีนส์ตัวหนึ่งที่ตั้งใจตัดให้ขาดเพื่อนำมาให้ก๊ะสาวซ่อมให้ แต่ด้วยความชำนาญในงานผ้าของฝ่ายหญิง แค่มองก็รู้ทันทีว่ากางเกงตัวนี้ไม่ได้ขาดเพราะอุบัติเหตุ แต่มาจากความตั้งใจ แต่รับรู้ความในใจของอีกฝ่าย จึงก่อเกิดเป็นความรัก ก่อนที่ทั้งคู่จะตัดสินใจคบหากัน และอยู่กินกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความแตกต่างทางฐานะและศาสนา

เนื่องจากทางบ้านของฝ่ายชายมีอาชีพรับจ้างตัดยาง แต่ทางบ้านฝ่ายหญิงมีธุรกิจท่องเที่ยวที่เจริญรุ่งเรือง และด้วยความที่ฝ่ายชายฝ่ายเป็นชาวพุทธ แต่ครอบครัวของฝ่ายหญิงนับถือศาสนาอิสลาม ทางครอบครัวก๊ะสาวจึงไม่ยอมรับฝ่ายชายอย่างเด็ดขาด เพราะคิดว่าดูแลลูกสาวตนไม่ได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นทางครอบครัวของฝ่ายหญิงก็ไม่คิดว่าฝ่ายชายจะประพฤติตัวเป็นชาวมุสลิมที่สมบูรณ์แบบได้
แต่ความแตกต่างทางฐานะและศาสนามิอาจทำลายความรักของทั้งสองลงได้ บังกอล์ฟและก๊ะสาวจึงตัดสินใจ “หนีตามกันไป” และได้อาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นบ้านของฝ่ายชาย รับจ้างกรีดยาง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเป็นเวลา 2 ปี กระทั่งมีบุตรด้วยกัน 2 คน ก๊ะสาวจึงเริ่มรู้สึกกังวลถึงอนาคตของลูก เพราะอยู่ในฐานะลำบาก ประกอบการความคิดถึงครอบครัว เนื่องจากขาดการติดต่อกับทางบ้านอย่างสิ้นเชิงตลอด 2 ปี จึงตัดสินใจพาบุตรชายคนโตวัยขวบครึ่งหนีบังกอล์ฟกลับมายังภูเก็ต โดยทิ้งบุตรชายคนเล็กวัย 2 เดือนครึ่งเอาไว้ที่ตรังกับบิดา

การยอมรับ

เมื่อพ่อแม่ของก๊ะสาวเห็นหน้าหลาน ก็ยอมรับได้บ้าง ยินยอมรับก๊ะสาวเข้าครอบครัวดังเดิม ขอเพียงแค่ว่าอย่ากลับไปอีก ให้ตัดขาดจากบังกอล์ฟโดยสิ้นเชิง กระทั่ง 3 เดือนต่อมา บังกอล์ฟติดต่อคนใกล้ชิดให้ฝากข่าวมาให้ก๊ะสาวว่าลูกชายวัยแบเบาะนั้นกำลังเผชิญโรคไข้สมองอักเสบ ต้องรักษาด้วยไขกระดูกสันหลัง ความเป็นแม่ของก๊ะสาวจึงทำให้อยู่รนทนไม่ได้ หอบลูกชายหนีออกจากบ้านเพื่อไปตรังอีกครั้ง
ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของก๊ะสาวจึงพยายามหาทางติดต่อก๊ะสาว เพื่อบอกให้พาบังกอล์ฟและลูกๆ กลับมาอยู่ด้วยกันที่ภูเก็ต แต่บังกอล์ฟต้องเข้าพิธีเข้าศาสนาอิสลามอย่างเต็มตัวเสียก่อน และให้ทำงานฝึกลิงซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของฝ่ายหญิง และเก็บหอมรอบริบเงินเรื่อยมา

“มันเกิดเป็นความคิดหนึ่งขึ้นมา ในแบบที่ทำให้ผมได้สัญญากับตัวเองไว้ว่า การที่คนเราเกิดมาในคนละที่คนละทาง ได้มาพบเจอกัน มันคงไม่ไช่ความบังเอิญแน่นอน และการที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เขาตัดสินใจฝากชีวิตเขาทั้งชีวิตให้เราเป็นคนดูแลมันไม่ไช่เรื่องที่เขาจะตัดสินใจได้ง่ายๆ และในเมื่อเขาตัดสินใจแล้วที่จะฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้กับเรา ประโยคแรกที่นึกได้และสัญญากับตัวเองก็คือ “จะขอดูแลผู้หญิงคนนี้ให้ดีที่สุด และทำให้เขามีความสุขมากที่สุด เท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถตราบเท่าชีวิตผู้ชายคนนี้จะทำได้” บังกอล์ฟ กล่าว

ก่อร่างสร้างตัว

ด้วยความที่บังกอล์ฟอยู่ในวงการการท่องเที่ยวในเกาะภูเก็ตมานาน และพอจะมีเพื่อนฝูงในภูเก็ตอยู่บ้าง และวันหนึ่งเขาได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่สวนงูแห่งหนึ่งในพื้นที่อ.กะทู้ ซึ่งในขณะนั้นเพื่อนยังขาดทักษะการบริหารธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่ จึงเสนอขายธุรกิจสวนงูให้กับบังกอล์ฟ และบังกอล์ฟเองได้รับซื้อไว้พร้อมกับพัฒนาธุรกิจให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยว โดยมีการแสดงลิงและงู จากนั้นก็ได้รับเสียงเรียกร้องจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะขี่ช้าง จึงสร้างปางช้างนพรัตน์ขึ้นมา ซึ่งชื่อของปางช้างแห่งนี้ บังกอล์ฟตั้งตามชื่อจริงของก๊ะสาว เพื่อเป็นการให้เกียรติที่ได้ร่วมสร้างชีวิตและฝ่าฟันความลำบากด้วยกันมา

การเห็นใจในเพื่อนร่วมวงการ

บังกอล์ฟและก๊ะสาวมีลูกค้ามาใช้บริการที่ปางช้างจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งสองเริ่มมองเห็นความลำบากของพนักงานขับรถที่พาแขกมาส่งในเรื่องการมีรายได้ไม่พอใช้ จึงได้เกิดไอเดียทำบัตรสะสมแต้มกับคนขับรถ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหากพาแขกมาครบ 20 ครั้ง จะได้ทอง 1 สลึง เพื่อเป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ กับคนขับรถเพราะคิดว่าควรแบ่งปันรายได้ให้กับคนที่พาลูกค้าเข้ามาที่ปางช้างบ้าง และในเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ทั้งสองได้แจกโบนัสให้พนักงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือแรงงานต่างด้าว และจัดกิจกรรมจับสลากมีทองคำจำนวนหลายเส้นเป็นของรางวัล เป็นการสะท้อนถึงความเอื้ออาทรแก่พนักงานที่ดูแลปางช้างแห่งนี้

ปัจจุบัน ปางช้างนพรัตน์ได้ก่อสร้างและดำเนินงานมาแล้วกว่า 10 ปี แรกเริ่มมีช้างทั้งหมด 4 เชือก ปัจจุบันขยับขยายมาเป็น 17 เชือก ทรัพย์สินที่มีทุกๆ อย่างที่ร่วมสร้างด้วยกันมา บังกอล์ฟยกให้เป็นชื่อของก๊ะสาวทั้งหมด ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกัน 4 คน และใช้ชีวิตอย่างสงบสุขที่ปางช้างนพรัตน์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่