4 โรคติดต่อสำคัญถูกจับตา! ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ฝีดาษวานร ไวรัสตับอักเสบ

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ออกมาตรการป้องกันและควบคุม 4 โรคติดต่อสำคัญ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ฝีดาษวานร และไวรัสตับอักเสบบีและซี

โพสต์ทูเดย์

วันอังคาร ที่ 11 มีนาคม 2568, เวลา 11:00 น.

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ภาพ โพสต์ทูเดย์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 วานนี้ (10 มีนาคม 2568) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ นโยบายและแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ 4 โรค ได้แก่

1. โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในปี 2568 พบผู้ป่วยแล้ว 165,333 ราย เสียชีวิต 14 ราย อัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และเด็กเล็ก 0 - 4 ปี โดยระบาดเป็นกลุ่มก้อนเฉพาะในโรงเรียน ค่ายทหารและเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A (H1N1)

ที่ประชุมจึงได้มีนโยบายมอบกรมควบคุมโรคร่วมกับ สปสช. สนับสนุนวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติม โดยจัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกเหนือในพื้นที่ที่มีการระบาด จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำพูน เชียงราย ภูเก็ต เชียงใหม่ และกทม. และจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีกโลกใต้จำนวนเพิ่มขึ้น จาก 4.5 ล้านโดสเป็น 6 ล้านโดส

2.โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง โดยอัตราตายสูงสุดในกลุ่มเด็กและช่วงอายุ 40 - 59 ปี ซึ่งยังคงเฝ้าระวังและเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการศึกษาวิจัยวัคซีนโรคไข้เลือดออก และให้ อสม. สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งกำหนดนโยบายศึกษาเรื่องความปลอดภัยและการใช้ประโยชน์จริงในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มพื้นที่นำร่อง ณ จังหวัดนครพนม ในวันที่ 4 เมษายน 2568

3.โรคฝีดาษวานร พบผู้ป่วยสะสม 873 ราย เสียชีวิต 13 ราย โดย 12 รายเป็นเพศชาย และทุกรายตรวจพบเชื้อ HIV จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ คัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้บุคลากรทางการแพทย์ คลินิกและโรงพยาบาล เฝ้าระวังและให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งสนับสนุนการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษให้กับกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดเสี่ยงและไทยได้รับบริจาควัคซีนมาจากสมาพันธ์ ASEAN 2,220 โดส ซึ่งกำลังแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มเสี่ยง

4. โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่นำไปสู่ภาวะตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่คัดกรองพบติดไวรัสตับอักเสบ B จำนวน 290,396 ราย แต่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเพียง 34,182 ราย (13.33%)

แม้ว่าจะมีการคัดกรองมากแต่ผู้ที่เข้าตรวจยืนยัน และได้รับการรักษาครบตามโปรแกรมยังน้อย จึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลจากการคัดกรองและเฝ้าระวัง เพื่อให้การดูแลและรักษาเป็นไปอย่างครบวงจรก่อนส่งกลับชุมชน โดยได้กำหนดนโยบายและแนวทางการติดตามการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี อย่างเป็นระบบในลักษณะ Care-Code-Control ได้แก่

  1. Care - ใช้ข้อมูลคัดกรองเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง
  2. Code - ใช้ข้อมูลดิจิทัลติดตามการตรวจยืนยันและการรักษา
  3. Control - ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้พัฒนาโปรแกรม Hepatitis-BC-DDC เชื่อมต่อกับระบบเฝ้าระวัง โดยเน้นส่งเสริมให้ประชาชนมาตรวจยืนยันและเข้ารับการรักษาครบโปรแกรม เพื่อติดตามผู้ป่วยมารับการดูแลรักษาได้อย่างครอบคลุม และเพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับในอนาคต

จัดตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติมในพื้นที่ 3 จังหวัด

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือ การเห็นชอบร่างประกาศ 2 ฉบับ คือ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดตั้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพิ่มเติม ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่

  1. จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชา (หนองเอี่ยน - สตึงบท) จังหวัดสระแก้ว
  2. ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
  3. ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การเพิ่มเติมผู้แทนหน่วยงานของรัฐในคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 3 ด่าน คือ

  1. ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ
  2. ด่านพรมแดนท่าลี่ จังหวัดเลย
  3. ท่าเรือปัตตานี จังหวัดปัตตานี

อ่าน โพสต์ทูเดย์


 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่