เพลงของพ่อ” พรแห่งชีวิต

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”

โพสต์ทูเดย์

วันอาทิตย์ ที่ 8 ตุลาคม 2560, เวลา 14:00 น.

พระองค์ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่า แซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟน สอดแทรกกับแผ่นเสียงของ นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ สอดแทรกกับแผ่นเสียง ของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรี ร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกและจนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อ
ในการทำความดี ต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและสังคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้ดนตรีให้เป็นประโยชน์ทางอ้อมในหลายด้าน อาทิ ทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จ ฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่นาน กว่า ๑๐ ปี ในคราวเสด็จเยือนต่างประเทศ ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นสื่อ กระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระปรีชาสามารถด้านดนตรี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ชื่นชมของชาวต่างประเทศ

บทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทแล้วบทเล่าได้รับการอัญเชิญมาบรรเลงครั้งแล้วครั้งเล่า จนเป็นเสมือนท่วงทำนองแห่งชีวิต

บทเพลงพระราชนิพนธ์กว่า ๔๘ บทเพลง เป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมที่ศิลปินระดับโลกต่างยกย่อง ด้วยเป็นผลงานเพลงซึ่งให้ความรื่นรมย์ กล่อมเกลาหัวใจผู้ฟังให้ละเมียดละไม เปี่ยมด้วยสุนทรียภาพ ทั้งยังมีคติเตือนในการดำเนินชีวิต

ทุกเพลงมีคุณค่าอย่างประเมินค่ามิได้ในความรู้สึกของชาวไทย ทั้งยังมีหลายเพลงซึ่งเกิดขึ้นเพราะพระองค์ตั้งพระราชหฤทัยทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ประชาชนในวาระต่างๆ อาทิ
• ยามเย็น เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารายได้เพื่อการกุศล
• ใกล้รุ่ง เพื่อบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย
• ยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด
• ลมหนาว พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ Kinari Suite
• กินรี พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงระบำบัลเลต์ชุดมโนราห์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสภากาชาดไทย
• เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย, ความฝันอันสูงสุด และ เราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
รวมไปถึงบทเพลงซึ่งพระราชทานให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น เมื่อเวลาเดินทางมาถึงในเดือน ธ.ค. เรามักจะได้ฟังเพลงอย่าง พรปีใหม่ บ่อยเป็นพิเศษ นี่คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือน ธ.ค. ๒๔๙๔ หลังจากเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

จากหนังสือ "ดนตรีจากพระราชหฤทัย ศูนย์รวมใจแห่งปวงชน" โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจัดทำหนังสือรวมเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๙ บันทึกไว้ว่า

ในวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชวินิจฉัยว่าอยากจะแต่งเพลงอวยพรให้แก่พสกนิกรของพระองค์ เป็นเพลงพระราชทานพรปีใหม่ พระองค์จึงทรงหารือกับ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (ภายหลังสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ)
หลังจากเสวยพระกระยาหารค่ำ ทั้งสองพระองค์ทรงดนตรีร่วมกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทำนองเพลงด้วยแซ็กโซโฟน ให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ใส่คำร้องทีละประโยค ประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจึงทรงให้นำไปมอบกับวงสุนทราภรณ์ที่เล่นดนตรีสลับหนังอยู่ ณ ศาลาเฉลิมไทย

ครูใหญ่ นภายน ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำงานร่วมกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นเล่าว่า ไม่มีใครทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะพระราชทานบทเพลง พรปีใหม่ มาในวันนั้น ทุกคนจึงตื่นเต้นดีใจ ด้วยคาดไม่ถึง

วงสุนทราภรณ์ใช้เวลาไม่นานในการเรียบเรียงบทเพลงพระราชทานสำหรับวงบิ๊กแบนด์ และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงเป็นต้นเสียงนำร้อง เมื่อถึงเที่ยงคืนก็พร้อมบรรเลง โดย ครูแก้วฟ้า อัจฉริยกุล โฆษกของวงขึ้นประกาศบนเวทีว่า มีข่าวดีสำหรับชาวไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พรปีใหม่ ให้ทุกคน จากนั้นเพลง พรปีใหม่ ก็เริ่มบรรเลงสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก

ในค่ำคืนเดียวกัน ก็ได้พระราชทานบทเพลง พรปีใหม่ ไปให้กับวงซียูแบนด์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่งานปีใหม่ริมสระน้ำหน้ามหาวิทยาลัยด้วย วันรุ่งขึ้นทางกรมโฆษณาการจึงบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์พรปีใหม่ เพื่อนำไปกระจายเสียงให้ชาวไทยทั่วประเทศได้รับฟัง

๖ ทศวรรษให้หลัง บทเพลงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความสุข เป็นท่วงทำนองพิเศษซึ่งก้องอยู่ในทุกๆ จังหวะชีวิตของคนไทย

ทุกครั้งเมื่อได้ฟังบทเพลง พรปีใหม่ หรือเพลงพระราชนิพนธ์บทอื่นๆ คนไทยทั่วหล้าย่อมสำนึกรู้ถึงความปลาบปลื้มที่เดินทางมาสู่หัวใจราวกับมีมนต์ ด้วยท่วงทำนองอันสุนทรระรื่น รวมทั้งเนื้อหาดีงาม ทำให้คนไทยรู้สึกโชคดีที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินของกษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยพระอัจฉริยภาพพระองค์นี้

บทเพลงพระราชนิพนธ์ทำให้ทุกคนตระหนักว่า ท่ามกลางพระราชกรณียกิจอันหนักหน่วงนานัปการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงนึกถึงประชาชนของพระองค์เสมอ

บทเพลงพระราชนิพนธ์ คือ ของขวัญพระราชทานอันทรงคุณค่า ที่กลายมาเป็นจังหวะความสุขและพรแห่งชีวิต อันเป็นอนันตกาล

-หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร-

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่