ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

วันศุกร์ ที่ 13 ตุลาคม 2560, เวลา 09:00 น.

ฟ้าร่ำกันแสงโศกพิไรหวน  พระธรณีตีอกครวญสะอื้นไห้
ขวัญสะท้านดาลเทวษทั้งแดนไตร  พระเสด็จสวรรคาลัยพิมานพรหม
เจ็ดสิบฉนำเนื่องเบื้องบทรัช  สยามพูนพิพัฒน์ภิรมย์สม
หวังรองบาทพระขวัญชาติตราบสิ้นลม  กลับตรอมตรมส่งเสด็จพระภูบดินทร์
ยินเสียงปี่ไฉนกลองชนะ  ลมหายใจราวจะขาดสะบั้นสิ้น
เยียบเย็นทั่วทั้งธรณิน  อัสสุชลไหลรินจากดวงใจ
จักสั่งสมบุญญาและความดี  นับแต่นี้กว่าชีวาจะหาไม่
เดินตามรอยบาทบงสุ์พระทรงชัย  สมที่ได้เกิดมาเป็นข้าแผ่นดิน
-----
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์(Cambridge)รัฐแมสซาซูเซตส์(Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เป็นสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสมเด็จพระเชษฐภคินีเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์กิติยากรเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ แล้วสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีต่อมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามลำดับ
ทรงรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์คือ
๑.ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
๒.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
๓.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมาร

พุทธศักราช ๒๔๙๙ มีพระราชศรัทธาทรงพระผนวช ตามคติของพุทธศาสนิกชนไทย เป็นเวลา ๑๕ วัน

นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรไทย ตราบถึง วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เป็นเวลา ๗๐ ปี๔ เดือน ๗ วัน กล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงอุทิศกำลังพระวรกาย และกำลังพระสติปัญญาปฏิบัติพระราชกรณียกิจอเนกอนันต์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงอาณาประชาราษฎร์

เสด็จเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นต้นมา ทรงตระหนักในความเป็นอยู่ของราษฎรที่ต้องเผชิญปัญหาที่ทำกินและการดำรงชีพ โดยพึ่งพาธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อน ปรากฏเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชสมัยมากกว่า ๔,๖๐๐ โครงการ ประจักษ์ว่า พระองค์คือกษัตริย์นักพัฒนายิ่งใหญ่แท้จริง ทรงเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอยู่อย่างสมดุลระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาติอันได้แก่ โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วม โครงการแกล้งดินแก้ปัญหาดินเปรี้ยวโครงการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้งธนาคารข้าวธนาคารโคกระบือแก้ปัญหาความขาดแคลน การปลูกหญ้าแฝก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำปลูกป่าด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบกั้นน้ำ เพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งทรัพยากรของประเทศ ตลอดจนพระราชทานแนวพระราชดำริไปยังนานาประเทศที่ต้องการความช่วยเหลืออีกด้วย พระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น องค์การสากลต่างๆได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้ปรากฏอย่างแพร่หลายกว้างขวางมาโดยตลอด

ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๓ - ๒๕๑๐ เสด็จฯ เยือนมิตรประเทศในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน ๑๔ ประเทศ เป็นการเจริญทางพระราชไมตรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศเป็นที่รู้จักในสังคมโลก เพราะมีพระประมุขที่ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และองอาจกล้าหาญ สิ่งสำคัญทรงมุ่งหวังที่จะแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากประเทศที่เจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เช่น การได้รับความร่วมมือจากประเทศเดนมาร์ก ในด้านผลิตฟาร์มโคนม เป็นต้น

ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๑๐ - ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นกำลังใจ แก่ทหารหาญและเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ชายแดนที่ประสบภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเยี่ยมบำรุงขวัญทหาร ตำรวจในพื้นที่สู้รบถึงฐานปฏิบัติการทั่วทุกพื้นที่ โดยมิทรงหวั่นเกรงภยันตรายใดๆ พระราชทาน
แนวทางให้ปฏิบัติด้วยสันติวิธี ทรงนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา ให้ชายแดนเป็นรั้ว ด้านในเป็นศูนย์พัฒนา เป็นแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพ เป็นผลให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ

ด้านเกษตรกรรม ทรงคิดค้นทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อพึ่งพาตนเอง อย่างเข้มแข็ง เรียกว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่”ด้วยแนวพระราชดำริใช้ที่ดินให้ได้ประโยชน์ สูงสุด
พุทธศักราช ๒๕๔๐ ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ทรงวางแนวทางการดำเนินชีวิตให้ราษฎร เป็นผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรบุคคลอย่างมั่นคง ยั่งยืน

ด้านการศึกษา ทรงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศทุกๆ ระดับ มีพระราชดำริส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทุกสาขาแก่เยาวชน และประชาชนอย่างทั่วถึง การศึกษาในระบบโรงเรียนทั่วประเทศตั้งแต่ในเมืองไปถึงถิ่นทุรกันดาร เช่น โรงเรียนจิตรลดา ในภูมิภาค เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ฯลฯ จัดโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและเพิ่มแหล่งศึกษาให้เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีโอกาสเล่าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง การศึกษานอกระบบ ได้แก่ โรงเรียนพระดาบส และการศึกษาตามอัธยาศัย คือโครงการตามพระราชดำริสาขาต่างๆ จำนวนมาก จัดทำสารานุกรมไทยสำรับเยาวชน และพระราชทานทุนการศึกษาอย่างกว้างขวาง เช่น ทุนอานันทมหิดล ทุนมูลนิธิภูมิพล เป็นต้น

ด้านศิลปวัฒนธรรม มีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะทุกสาขา ทรงสนพระราชหฤทัยในศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกแขนง ทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์มรดกของชาติทรงส่งเสริมให้คนในชาติตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ มีพระราชดำริฟื้นฟูการถวายผ้าพระกฐินโดยขบวน
พยุหยาตราทางชลมารค เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ และพุทธศักราช ๒๕๐๓ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง แทนองค์เดิมที่ชำรุด โปรดให้เขียนจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน
ในพระราชฐานชั้นใน ทรงอุปถัมภ์การแสดงโขนละครและศิลปะการแสดงอันเป็นจารีตแบบแผนของชาติ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในการดนตรีทรงพระราชนิพนธ์เพลงที่กล่าวได้ว่าเป็นอมตะเพื่อปวงชนจำนวนมาก เช่น เพลงพรปีใหม่ สายฝน ใกล้รุ่งแสงเทียน ฯลฯ พระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่องพระมหาชนก ทรงแปลเรื่องติโต และนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ

ด้านศาสนา ทรงเคร่งครัดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงเป็นแบบอย่างที่ล้ำเลิศในการผดุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานถาวรเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดิน ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นๆ ในพระราชอาณาจักรให้พสกนิกรทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

มีพระราชดำริสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ให้เป็นวัดแบบอย่าง คำนึงถึงประโยชน์ที่สานสัมพันธ์ร่วมกันระหว่าง วัด บ้านและโรงเรียน ที่เรียกว่า “บวร” ให้มีความเรียบง่าย และประหยัด เมื่อใช้ประโยชน์และจัดกิจกรรมร่วมกัน

ด้านสาธารณสุข ทรงตระหนักถึงสุขภาพอนามัยประชาชน กำจัดโรคระบาด ที่คุกคามบั่นทอนชีวิตราษฎร ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรค โปลิโอ และโรคติดต่อร้ายแรง สงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยทุกวาระอย่หางทันเหตุการณ์ ฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ จัดตั้งหน่วยงานแพทย์หลวง หน่วยแพทย์พระราชทานทั้งทางบกและทางน้ำ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน ก่อตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ดำเนินงานช่วยเหลือในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว ในด้านการแพทย์ส่งเสริมให้ทุนนายแพทย์สาขาต่างๆ ไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ เพื่อนำวิทยาการที่เจริญมาพัฒนาประเทศ

ด้านการคมนาคม ทรงวางแผนสร้างถนนเพื่อความมั่นคงของประเทศและพัฒนาบ้านเมือง เส้นทางข้ามภูเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้โดยเฉพาะเส้นทางสายน่าน-ปัว-ทุ่งช้าง-ปอน-ห้วยโกร๋น ในพื้นที่อันตรายที่ผู้ก่อการร้ายขัดขวาง ทั้งทรงแก้ปัญหาจราจรด้วยระบบเครือข่าย ได้แก่ ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก กาญจนาภิเษก โครงข่ายถนนจตุรทิศเหนือ-ใต้ตะวันออก-ตะวันตก รองรับการจราจรข้ามกรุงเทพฯ ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสองช่วงที่โดดเด่นสง่างามสะพานแขวนพระราม ๘ ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ดวงมณีดวงประทีป และดวงใจของชาวไทย ทรงแผ่พระมหาบารมีอันบริสุทธิ์ไพศาล ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปวงประชาชาวไทย พระราชทานความรัก ความห่วงใย เปี่ยมด้วยพระเมตตาอันประมาณมิได้ทรงทุ่มเทพระวิริยะ อุตสาหะ พระปรีชาญาณ สร้างความสุขสวัสดิ์ยั่งยืนแก่ประชาชนของพระองค์อย่างมิทรงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ชาติไทยจึงก้าวหน้ารุ่งเรืองเป็นลำดับ ทรงเป็นหลักชัยนำทางแก่ชาติยาวนานถึง ๗๐ ปี๔ เดือน ๗ วัน นับเป็นความวิปโยคสุดอาลัยเมื่อพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่
๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ชาวไทยทั้งชาติต่างน้อมศิรเกล้ากราบสักการะพระผู้สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์

หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่