โดยอ้างถึงความกังวลในเรื่องความโปร่งใสในการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในชุมชน ล่าสุดการก่อสร้างภายในไซต์งานมีคำสั่งให้ถูกระงับไว้ระหว่างรอการตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ในระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อศึกษาปัญหาที่ดินและสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล ผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต เขต 3 พรรคประชาชน โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอนุมัติ EIA แม้ว่าโครงการจะตั้งอยู่ใน ’เขตพื้นที่สีเหลือง’
“พื้นที่สีเหลืองมีไว้สำหรับการใช้ที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำ” นายฐิติกันต์ เปิดเผยกับ The Phuket News “การอนุญาตให้มีโรงแรมสูงในบริเวณนี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การตัดสินใจครั้งนี้ไม่เพียงแต่ละเมิดกฎหมายการแบ่งเขตผังเมือง แต่ยังกำหนดแบบอย่างที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาภูเก็ตในอนาคต” เขากล่าว
“หากกรณีนี้เป็นกรุงเทพฯ โครงการบนที่ดินไม่ถึงไร่จะไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติด้วยซ้ำ มันไม่เป็นไปตามระเบียบของรัฐบาล” นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าว
“แต่ในภูเก็ต กฎหมายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับในแต่ละท้องถิ่น บางพื้นที่อนุญาตบางพื้นที่ไม่อนุญาต การพัฒนาบางอย่างดำเนินไปโดยไม่มีการประชาพิจารณ์หรือการวางผังเมืองที่เหมาะสม”
“ไม่มีแนวทางที่มีโครงสร้างในการจัดการการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และนั่นคือสาเหตุที่เรามองเห็นปัญหาเหล่านี้อยู่เสมอ” เขากล่าวเสริม
“ต้นเหตุของปัญหานี้อยู่ที่วิธีการอนุญาตให้ก่อสร้าง หากเราต้องการป้องกันไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกจริง ๆ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการอนุมัติไปให้รัฐบาลส่วนกลางประเมินอย่างเหมาะสม” นายพูลศักดิ์ กล่าว “วิธีนี้จะช่วยขจัด ’ความขัดแย้งทางผลประโยชน์’” เขากล่าว
“แต่เมื่อการอนุมัติอยู่ในระดับจังหวัด เราก็พบปัญหาเดิม ๆ ซ้ำ ๆ การอนุมัติโดยปราศจากการรับรู้สนับสนุนจากชุมชน ไม่มีกระบวนการที่เป็นระบบ และมักจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นายพูลศักดิ์ อธิบาย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายฐิติกันต์ รับยื่นหนังสือจาก น.ส.อุษณีย์ ศุขกระพันธ์ ตัวแทนประชาชน ต.เชิงทะเล เรื่อง โครงการก่อสร้าง The Nebu Resort ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เนื่องจากได้มีการก่อสร้างเนบูรีสอร์ทซึ่งเป็นโรงแรมสูง 7 ชั้น และยังมีอพาร์ทเม้นท์ 39 ยูนิต บนพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ติดกับบ้านพักและวิลล่าส่วนตัว รวมถึงหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย
โดยโครงการนี้มีปัญหาทางเข้าออกที่ไม่เอื้อต่อการก่อสร้าง เนื่องจากถนนมีความกว้างเพียง 3 – 4 เมตร และเกิดน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก นอกจากนี้ ยังมีปัญหากับการสัญจรของรถยนต์ อีกทั้งมี Rooftop Bar ด้านบนโดยรอบของโรงแรมที่เป็นที่พักอาศัยความสูงไม่เกิน 2 ชั้น และการสร้างโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว อาจมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้หน่วยงานราชการจัดทำ EIA ใหม่อีกครั้ง เพราะสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปมากโดยก่อนที่จะมีโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการจัดทำ EIA ตั้งแต่ปี 2562
ในตอนนั้น นายฐิติกันต์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า “จากการลงพื้นที่จะเห็นได้ว่าถนนมีสภาพคับแคบ หากสร้างโรงแรมจะทำให้รถยนต์ไม่สามารถสวนกันได้ และหากมีการก่อสร้างเกิดขึ้นต้องมีรถโม่ปูนเข้าออกตลอดเวลา มีแคมป์คนงานก่อสร้างต่าง ๆ ส่งผลกระทบให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบในระยะเวลายาวนานพอสมควร และจะทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวที่พักอาศัยไม่เหมาะกับการสร้างโรงแรมใด ๆ”
“จึงขอฝากไปถึง อบต.เชิงทะเล ให้พิจารณาโครงการก่อสร้างดังกล่าวให้รอบคอบและจัดทำ EIA เพื่อสอบถามความประสงค์ของคนในพื้นที่จริง ๆ เนื่องจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่มีข้อกังวลและความสงสัย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายต่อไป”
ล่าสุดนายฐิติกันต์ลงพื้นที่อีกครั้งหลังจากที่ได้นำเสนอปัญหาต่อรัฐสภา พร้อมอธิบายว่า “ในภูเก็ตกฎเกณฑ์ของ ’โซนสีเหลือง’ โดยทั่วไปจะจำกัดอาคารไว้ไม่เกิน 2-3 ชั้น (8-12 เมตร) โดยมีข้อจำกัดด้านความหนาแน่นและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เข้มงวด
“การอนุมัติสร้างโรงแรม 7 ชั้นทำให้เกิดคำถามทางกฎหมายร้ายแรงเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแบ่งเขตผังเมือง และความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น” เขากล่าว โดยไม่ได้กล่าวหาบุคคลใดเป็นพิเศษถึงการกระทำความผิด
การต่อสู้ของคนในชุมชน
ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่โต้แย้งว่า โครงการดังกล่าวละเมิดกฎหมายผังเมืองและสิ่งแวดล้อมหลายข้อ โดยได้นำข้อกังวลสำคัญเสนอต่อ กมธ. ในการลงพื้นที่ครั้งล่าสุด (24 ก.พ. 68) ด้วย ได้แก่:
ปัญหาความสูงและความหนาแน่น เนื่องจากโรงแรมสูง 23 เมตร มี 7 ชั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 1,200 ตารางเมตร ในเขตพื้นที่สีเหลือง ซึ่งกำหนดให้ใช้สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำ และแผนโรงแรมจะมีที่จอดรถเพียง 20 คันสำหรับห้องพัก 89 ห้อง อาจทำให้เกิดการจราจรติดขัดในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาถนนแคบและเวลาฝนตกจะเกิดน้ำท่วมเอ่อหน้าซอย เพราะระบายน้ำไม่ทัน
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข “และอีกปัญหาคือตัวรูฟท็อปบาร์ของเขาหรือไฮไลท์ของโรงเเรม ซึ่งจะต้องมีเสียงดังมารบกวนคนในชุมชนอยู่เเล้ว รวมไปถึงตัวอาคารที่ออกเเบบมาเหมือนกล่องเสียง อย่างไรก็ต้องเสียงดังอยู่เเล้ว ตอนก่อสร้างเวลาขุดดินเจาะพื้นก็ต้องสะเทือนอยู่เเล้ว บ้านครัวเรือนแตกร้าวย่างแน่นอน” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว
“แเม้โรงแรมจะไม่ทำระเบียงออกมาเเต่เขาจะติดตั้งแอร์คอมเพรสเซอร์เเทนซึ่งมันจะปล่อยลมร้อนมาทางหลังบ้านของคนในชุมชนอยู่ดี และสร้างความเดือดร้อนและทำให้คนในชุมชนไม่สามารถออกมานั่งเล่นที่สวนหลังบ้านได้ เนื่องจากจะโดนลมร้อนมาจากตัวแอร์คอมเพรสเซอร์ และด้วยความสูงของตึกที่เขาจะทำสูงถึง 23 เมตร มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัวอยู่ดี เราไม่สบายใจที่จะออกไปเล่นน้ำที่สระของบ้านตัวเอง”
“รายงาน EIA อ้างว่าได้รับการอนุมัติจากสาธารณะ 70% แต่ไม่สามารถระบุชื่อหรือที่อยู่ได้ ชาวบ้านได้ทำการสำรวจความคิดเห็น โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 100% ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เราแค่ต้องการการประเมินผลกระทบที่เหมาะสม” เขากล่าวเสริม
แรงกดดัน
นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ได้เข้ามาทักทายคณะ กมธ.เพียงประมาณ 10 นาที ก่อนจะเดินจากไปทำงานด้านอื่น โดยมีเพียง นายอภิชาติ ดีก้องเสียง ผู้อํานวยการกองช่าง อบต.เชิงทะเล เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการ ซึ่งในตอนแรกนายอภิชาติได้ออกมาปกป้องกระบวนการ EIA แต่ต่อมาก็ยอมให้ทบทวนความถูกต้องตามกฎหมาย
“อบต.เชิงทะเล ยืนยันว่าการสร้างโรงแรมในโซนสีเหลืองนั้นถูกกฎหมาย ทางโรงแรมได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ลงมาตรวจสอบเรียบร้อยเเล้วว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย” นายอภิชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากตอบคำถามจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่กี่นาทีเขากล่าวว่า “เราให้ความสำคัญกับข้อกังวลของชุมชน หลังจากได้มีการฟังความคิดเห็นมา 3 ครั้งระหว่างชาวบ้านและผู้ประกอบการ ทางผู้ประกอบการก็มีการปรับผังจากตึก 7 ชั้น เป็น 6 ชั้น จาก 100 ห้องเหลือ 89 ห้อง และชั้นใต้ดินจากลึก 2 ชั้นเป็น 1 ชั้นใต้ดินจอดรถ และจะไม่ทำระเบียงออกมาเพื่อความเป็นส่วนตัวของคนในชุมชน”
“ขอชี้แจงในด้านสาธารณูปโภค ตอนเรากำลังดำเนินการปรับปรุงถนนและสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งการก่อสร้างตรงนี้หลัก ๆ เป็นของ อบต.เพื่อให้มีการจราจรเดินทางได้สะดวกขึ้น ในเรื่องของความกว้างถนน อบต.เองไม่สามารถขยายถนนได้กว้างกว่านี้เเล้ว นอกจากชาวบ้านจะบริจาคพื้นที่บางส่วนให้ อบต.”
“ปัญหาการระบายน้ำยังอยู่ระหว่างการประสานงานกับกรมทางหลวง” นายอภิชาติ กล่าวเสริม โดยไม่ได้แสดงความคิดเห็นว่าสภาพบริเวณท้ายซอยเป็นอย่างไร เมื่อมีฝนตกหนักลงมาในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ทาง อบต.ยังไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้าง โดยการประชุมครั้งที่ 4 จะมีขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อให้โอกาสชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
“อบต.เชิงทะเล ยืนยันว่าจะไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร จนกว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายโดยสมบูรณ์” เขากล่าวสรุป
การดำเนินการ
ภายหลังการลงพื้นที่คณะ กมธ. มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างชั่วคราวเพื่อรอการพิจารณา EIA และสั่งให้มีการทบทวนกระบวนการ EIA อย่างเร่งด่วน โดยทาง กมธ. และท้องถิ่นจะร่วมสอบสวนข้อกล่าวหาว่า EIA ดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
ทาง กมธ. ขอให้ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เร่งตรวจสอบเรื่องนี้และมีมติที่โปร่งใส ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าได้ทำเรื่องส่งไปยัง EIA ส่วนกลางเเล้ว และได้ส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการภูเก็ต เพื่อติดตามผลการตรวจสอบ เเต่เรื่องก็เงียบไป ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากผู้ว่าฯ
กลับคำ
หลังจากได้รับทราบคำสั่งของ กมธ. นายอภิชาติก็ได้ทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทน อบต.เชิงทะเล ตอบในเรื่องของการอนุญาตให้ทางโรงแรมดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการที่มี “สำนักงานขาย” เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว
“อบต. ยังคงยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว แต่หากมีข้อผิดพลาดในกระบวนการก็ยินดีสอบสวน” นายอภิชาติกล่าว
นายพูลศักดิ์ กล่าวแทนนายอภิชาติแบบตรงไปตรงมา “เนื่องจาก EIA ไม่สามารถทำซ้ำได้ หากไปไม่สามารถระบุปัญหาได้ ต้องพบข้อผิดพลาดก่อนจึงจะทำ EIA ใหม่ได้” นายพูนศักดิ์ กล่าวยืนยัน
กรณีของเนบูรีสอร์ทตอกย้ำความกังขาของสาธารณชนต่อกระบวนการ EIA ที่เพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการอนุมัติที่น่าสงสัยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบแย้งว่าการพัฒนาที่ขาดการควบคุมอาจเป็นอันตรายต่อภูมิทัศน์เมือง สิ่งแวดล้อม และชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวของภูเก็ตในระยะยาว
“การอนุมัติ EIA ที่ไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและยกเลิก หากเห็นได้ชัดว่าไม่ควรได้รับการอนุมัติตั้งแต่แรก” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว
“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราแค่หวังว่านี่จะไม่ใช่คำสัญญาที่ว่างเปล่าอีก” ชาวบ้านอีกคนกล่าว