"โรลส์-รอยซ์' คดีฉาวสะท้านเกาะอังกฤษ

อังกฤษสอบสวนโรลส์-รอยซ์ พัวพันคดีติดสินบนใน 7 ประเทศ หลังบริษัทประกาศจ่ายค่ายอมความรวม 671 ล้านปอนด์ (ราว 2.8 หมื่นล้านบาท) ให้กับหน่วยงานใน 3 ประเทศ

โพสต์ทูเดย์

วันอาทิตย์ ที่ 22 มกราคม 2560, เวลา 14:00 น.

ภาพ เอเอฟพี

ภาพ เอเอฟพี

บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตยานยนต์และเครื่องยนต์อากาศยาน เป็นบริษัทซึ่งโดดเด่นและโด่งดังจากเกาะอังกฤษ ด้วยการสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2,800 ล้านปอนด์ (ราว 1.2 แสนล้านบาท) ในปี 1987 เป็น 7.6 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 3.2 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ทว่ายอดขายดังกล่าวกลับได้มาอย่างไม่โปร่งใส และนำไปสู่การสืบสวนของสำนักงานสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) ในปี 2012

การสืบสวนดังกล่าวย้อนหลังไปจนถึงปี 1989 พบว่าโรลส์-รอยซ์มีการจ้างคนกลางเพื่อช่วยเหลือในการซื้อขายเครื่องยนต์ ซึ่งนำไปสู่การติดสินบนใน 7 ประเทศ เช่น ไทย จีน อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และสร้างรายได้ให้กับโรลส์-รอยซ์เป็นจำนวนเงิน 250 ล้านปอนด์ (ราว 1 หมื่นล้านบาท) จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา โรลส์-รอยซ์ประกาศจ่ายค่ายอมความรวม 671 ล้านปอนด์ (ราว 2.8 หมื่นล้านบาท) ให้กับหน่วยงานใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐ และบราซิล ซึ่งต่างมีการ สอบสวนโรลส์-รอยซ์ด้วยเช่นกัน

“กรณีของโรลส์-รอยซ์แสดงให้เห็นถึงการละเมิดกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรงในส่วนของการติดสินบนและคอร์รัปชั่น” เซอร์ ไบรอัน เลฟซัน ผู้พิพากษาและผู้อนุมัติให้ปรับโรลส์-รอยซ์ กล่าวว่า จากการสอบสวนพบหลักฐานที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมีส่วนรู้เห็นและยังอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจปรับเงินเพื่อเป็นค่ายอมความแทนการดำเนินคดี เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดย เลฟซัน เปิดเผยสาเหตุที่ไม่มีการดำเนินคดีกับโรลส์-รอยซ์ ว่าผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานดังกล่าวเป็นผู้แจ้งความผิดปกติให้กับเอสเอฟโอในทีแรก และยังใช้งบประมาณ 120 ล้านปอนด์ (ราว 5,148 ล้านบาท) ในการสอบสวนภายใน รวมถึงยังให้ความร่วมมืออย่างดีและปรับเปลี่ยนองค์กรหลังพบความผิดปกติ

"โรลส์-รอยซ์ไม่ใช่บริษัทเดิมที่เคยเป็น" เลฟซัน กล่าว

ขณะเดียวกันผู้พิพากษาคนดังกล่าว ยังระบุว่า การดำเนินคดีทางอาญากับโรลส์-รอยซ์นั้นรุนแรงจนเกินไป ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่โรลส์-รอยซ์ มีการจ้างงานมากถึง 5 หมื่นอัตรา ขณะที่การดำเนินคดีอาญาจะทำให้ทางเอสเอฟโอซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีการใช้งบประมาณไปแล้ว 13 ล้านปอนด์ (ราว 557 ล้านบาท) มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของเอสเอฟโอ

อย่างไรก็ตาม เลฟซัน ระบุว่า อาจจะมีการดำเนินคดีทางอาญาเป็นรายบุคคล โดยพนักงาน 38 คนของ โรลส์-รอยซ์ พบมีความผิดในการสอบสวนที่ผ่านมา ซึ่ง 6 คนในจำนวนดังกล่าวถูกไล่ออกและอีก 11 คน ออกจากบริษัทระหว่างที่มีการสืบสวน

หลังกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว แบร์รี การ์ดิเนอร์ รัฐมนตรีเงาด้านการค้าระหว่างประเทศของพรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ เรียกร้องให้ปลดยศอัศวินของเซอร์ จอห์น โรส อดีตประธานบริหาร (ซีอีโอ) ของโรลส์-รอยซ์ ตั้งแต่ปี 1996-2011 ออก หลังขาดคุณสมบัติจากเหตุอื้อฉาวดังกล่าว ขณะที่ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาญาเป็นรายบุคคลอีกด้วย

การสอบสวนของอังกฤษ

ไทย : จ้างคนกลางมากกว่า 36 ล้านเหรียญสหรัฐ นำไปสู่การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย เพื่อขายเครื่องยนต์ 3 ครั้ง ระหว่างปี 1991-2005
อินโดนีเซีย : ให้เงินจำนวน 2.25 ล้านเหรียญสหรัฐ  พร้อมรถยนต์แก่คนกลาง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเอื้อต่อการขายเครื่องยนต์
จีน : จ่ายเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้บริหารรายหนึ่งของไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส เพื่อขายเครื่องยนต์
มาเลเซีย : จ่ายเงิน 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้บริหารของแอร์เอเชีย เพื่อบริการซ่อมบำรุงเครื่องบินของโรลส์-รอยซ์
อินเดีย : ใช้คนกลางเพื่อให้ได้สัญญาด้านความมั่นคงของรัฐบาลอินเดียและติดสินบนกับเจาหน้าที่สรรพากรหลังรัฐบาลอินเดียขอรายชื่อคนกลางของโรลส์-รอยซ์
รัสเซีย : ติดสินบนเพื่อชนะสัญญาโครงการก๊าซ "พอร์โทวายา" ของก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจน้ำมันรัสเซีย
ไนจีเรีย : โรลส์-รอยซ์จ้างงานเอกชนไนจีเรีย ที่ต่อมาติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้ได้สัญญาโครงการพลังงาน 2 โครงการ

การสอบสวนของสหรัฐ

ไทย : โรลส์-รอยซ์ และโรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ว่าจ้างคนกลางซึ่งนำไปสู่การติดสินบนเจ้าหน้าที่ใน ปตท. มากกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2003-2013
บราซิล : จ้างงานคนกลาง 9.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นเงินติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบราซิล เพื่อให้ได้สัญญากับปิโตรบาส รัฐวิสาหกิจน้ำมันบราซิล
คาซัคสถาน : จ่าย "ค่าคอมมิชชั่น" 5.44 ล้านเหรียญสหรัฐ กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้สัญญาพลังงานลมในปี 2009 รวมถึงขายวัสดุและการบริการในปี 2012
อาเซอร์ไบจาน : ปี 2000-2009 โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม จ่าย "ค่าคอมมิชชั่น" 7.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อชนะสัญญาขายกังหันลม ซึ่งทำเงินได้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
อิรัก : ติดสินบนระหว่างปี 2006-2009 เพื่อขายกังหัน รวมถึงให้รอดพ้นจากการถูกแบล็กลิสต์
อังโกลา : จ่ายเงิน 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น "ค่าคอมมิชชั่น" เพื่อโครงการที่สร้างรายได้ให้ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่