ภายหลังกรมทรัพยากรธรณีออกประกาศเตือนฉบับที่ 3/2568 ให้เฝ้าระวังภัยจากฝนตกหนักต่อเนื่อง อันเนื่องจากอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงใต้ ที่ส่งผลให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมเกิน 100 มิลลิเมตร ในช่วงวันที่ 16–18 เมษายน 2568
5 มาตรการเข้มรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในภูเก็ต
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย - แจ้งเตือนประชาชนอย่างใกล้ชิด
ให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์ฝนตกและปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ลาดเชิงเขา ที่ดินอุ้มน้ำมาก และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์และแนวทางป้องกันตนเองอย่างต่อเนื่อง
2. ปิดพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ - ควบคุมการเข้าพื้นที่อย่างเด็ดขาด
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความเสี่ยงสูง เช่น น้ำตก ทางขึ้นเขา หรือทางลอดอุโมงค์ หากมีฝนตกหนัก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศห้ามเข้าโดยเด็ดขาด และเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อความปลอดภัยและบรรเทาปัญหาการจราจร พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
3. เร่งระบายน้ำ – ติดตั้งและเดินเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยง
หากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขัง ให้เร่งเดินเครื่องสูบน้ำทันที โดยเฉพาะในจุดที่ติดตั้งเครื่องไว้แล้ว และติดตั้งเพิ่มในจุดคาดว่าจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำให้เร็วที่สุด
4. เฝ้าระวังแหล่งต้นน้ำ – ติดตั้งสัญญาณเตือนภัยและเตรียมอพยพประชาชน
พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้จัดเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งระบบเตือนภัย และแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพเมื่อพบสัญญาณความผิดปกติ เช่น น้ำมีสีเปลี่ยนหรือขุ่น โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้เตรียมขนย้ายสิ่งของและอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย
5. แจ้งเหตุ – รายงานสถานการณ์ทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ
หากมีเหตุภัยพิบัติที่กระทบประชาชนจำนวนมาก ให้รีบรายงานสถานการณ์ต่อกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตทันที ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 076-510097, สายด่วนนิรภัย 1784, Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” หรือทางอีเมล phuketdisaster@gmail.com จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวังและร่วมมือกันป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่า จังหวัดมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านกำลังคน เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ป้องกันภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ.