แม้จะเป็นผู้ต้องหา แต่ก็ห้ามนำมาแถลงข่าว

ปรากฏการณ์ “ข่าวเปรี้ยว” ในคดีฆ่าหั่นศพ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ทั้งการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่โลกโซเชียลว่า เกินพอดี โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กระทำไม่เหมาะสมในการเผยแพร่ภาพ 3 ผู้ต้องหาหญิงขณะถูกควบคุมตัว

โพสต์ทูเดย์

วันพฤหัสบดี ที่ 8 มิถุนายน 2560, เวลา 16:58 น.

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ภาพ โพสต์ทูเดย์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2548 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่ง 855/2548 ต่อมาได้แก้ไขเป็นคำสั่งที่ 465/2550 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมของตำรวจทั้งภายในและภายนอกที่ทำการหรือสถานีตำรวจ รวมถึงเหยื่ออาชญากรรม รวมทั้งภาพที่มีลักษณะอุจาดหรือทารุณโหดร้าย หรือล่วงละเมิดสิทธิบุคคล หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งผ่านกระทรวงยุติธรรม ห้ามนำตัวผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าว เพื่อไม่ให้ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศ

นั่นเท่ากับว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เผยแพร่ภาพผู้ต้องหาขัดต่อคำสั่งของ สตช. หรือนายกรัฐมนตรีเสียเอง?
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ตอบคำถามนี้โดยยืนยันว่า ตำรวจไม่มีสิทธินำภาพผู้ต้องหามาเผยแพร่

“มันไม่ใช่เรื่องของความเหมาะสมหรือไม่ที่ตำรวจถ่ายภาพผู้ต้องหาและเผยแพร่ออกไป แต่ประเด็นสำคัญคือตำรวจไม่มีสิทธิในการกระทำนั้นๆ กับตัวผู้ต้องหา เพราะอย่าลืมว่า ตามกระบวนการกฎหมายแล้วแม้ผู้นั้นจะตกเป็นผู้ต้องหา หรือผู้ถูกกล่าวหาก็ตาม จะต้องปฏิบัติด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ให้เหมือนกับว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าจะมีคำสั่งจากศาลตัดสินในคดี แต่ตำรวจส่วนใหญ่ก็นำผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว ซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น และนานาชาติก็ไม่มีประเทศไหนที่ทำแบบนี้”

“แม้คดีฆ่าหั่นศพที่เกิดขึ้นล่าสุดจะไม่มีการเอาตัวผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว แต่ตำรวจเองก็เปิดโอกาสให้มีการเก็บภาพผู้ต้องหา หากถามว่าเป็นเพราะอะไร คำตอบคือตำรวจก็ต้องการผลงาน ต้องการให้สังคมรับรู้ แต่เขาไม่รู้ว่าไม่มีสิทธิจะทำเช่นนั้นได้ แม้ผู้ต้องหาจะสารภาพก็ตาม”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็ไม่รู้เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาทั้งในหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม เรื่องนี้จะต้องมีคนเข้ามารับผิดชอบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจับผู้ต้องหามานั่งแถลงข่าว รวมถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องออกมามีท่าทีกับเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยผ่านไปเหมือนที่ผ่านๆ มา และไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาร้องเรียน เมื่อเห็นว่าผิด ละเมิดสิทธิก็ต้องเข้ามาจัดการทันที
ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติห้ามนำเอาตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาการนำตัวผู้ต้องหามาให้สาธารณะได้เห็นนั้น ได้สร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งเรื่องของครอบครัวของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับความอับอายจากสังคม ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับคดีที่ผู้ต้องหาได้ก่อขึ้น หรือหากผู้ต้องหารายนั้นๆ ไม่ได้กระทำความผิด เราจะเยียวยาเขาได้อย่างไร

กรณี 3 สาวผู้ต้องหาคดีฆ่าหั่นศพ ที่มีภาพการใช้ชีวิตขณะถูกตำรวจควบคุมตัว ทั้งการกินข้าว สูบบุหรี่ หรือการแต่งหน้า ธวัชชัย มองว่า แม้จะไม่ได้เป็นการแถลงข่าว แต่ภาพถูกถ่ายและเผยแพร่ออกมาจากตำรวจที่ควบคุมตัวอยู่ หากมองว่ามีความผิดหรือไม่ ก็คงไม่ชัดเจน แต่หากถามถึงความเหมาะสม แน่นอนว่าภาพนี้ย่อมไม่เหมาะสมอย่างมาก

“กระบวนการยุติธรรมก็ต้องเดินหน้าต่อ ทำผิดจะโดนโทษทัณฑ์อย่างไรก็เป็นไปตามกระบวนการตัดสิน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหามาให้สาธารณะได้รับรู้ หรือเผยแพร่ภาพออกไป อีกอย่างสังคมโลกไม่มีใครเขาทำกัน ไม่มีใครเอาตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวเลย”

อย่างไรก็ตาม ธวัชชัย มองว่า ตำรวจเองก็มีสิทธิจะถ่ายรูปผู้ต้องหา แต่การเผยแพร่ออกไปยังภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำคดี ก็ต้องทวงถามความรับผิดชอบส่วนบุคคลกันเอง รวมถึงสื่อมวลชนก็ต้องมีวิจารณญาณในการเผยแพร่ เช่น การเบลอภาพผู้ต้องหา

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การนำเสนอข่าวคดีเปรี้ยวหั่นศพ สะท้อนความไม่ปกติในสังคม โดยสื่อหลักต้องแข่งกับสื่อออนไลน์ทำให้คนแย่งข่าวกัน สื่อหลักมองว่าถ้าไม่นำเสนอคนก็จะไปดูในออนไลน์จึงต้องช่วงชิงนำเสนอ ไปที่ไหนก็เจอข่าวนี้ทุกช่องทาง ไม่ว่า ไลน์ เฟซบุ๊ก ทีวี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ “เยอะเวอร์” ขณะที่ในส่วนของสังคม เข้าใจว่าช่วงนี้ของคนไทยไม่ค่อยมีความมั่นคงเพราะการเมืองมีความอึมครึม ใครวิจารณ์รัฐบาล คสช.ก็ไม่ได้ ทุกอย่างจึงพุ่งเป้าไปที่ข่าวอาชญากรรม

สุภิญญา กล่าวว่า ประเด็นที่ตำรวจถ่ายรูปผู้ต้องหาและส่งให้สื่อมวลชนนั้น ไม่ควรทำเพราะพื้นที่อาชญากรรมควรเป็นเรื่องของรูปคดี แม้ว่าเขายอมรับผิด แต่มันก็ควรเรื่องของกระบวนการยุติธรรม “เข้าใจว่าตำรวจอาจจะอยากเล่นกับกระแสในสังคม แต่ถ้าเป็นมาตรฐาน ตำรวจต้องทำให้รัดกุมมิดชิดไม่ให้ภาพหลุดออกมา แต่บางกรณีปล่อยออกมาเพราะไม่ต้องเกรงใจอะไรจริงๆ ควรมีมาตรฐานเดียวคือเป็นเรื่องกระบวนการที่อยู่ภายในห้องขังและจะปล่อยให้สื่อทำข่าวได้คือช่วงทำแผนประกอบการสารภาพ หรือตอนขึ้นศาลเพื่อให้ได้ภาพเพื่อสาธารณะ”

ตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้สะท้อนระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตคนดีมีคุณธรรม มีจริยธรรมได้ เพราะถ้าการศึกษาดี เขาก็จะไม่มีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยม

“เปรี้ยวเกิดมาในยุคที่มีความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำของสังคม เขาจึงได้มีพฤติกรรมอย่างที่เกิดเหตุ แน่นอนเขาทำความผิดเขาต้องถูกลงโทษ แต่การที่บอกว่าเพราะความเหลื่อมล้ำเพราะความยากจนไม่ได้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ได้รับผิดตามกฎหมาย ต้องถูกลงโทษเช่นเดียวกัน” ตวง กล่าว

โดย กันติพิชญ์ ใจบุญ, เพ็ญญาเรีย บุญประเสริฐ

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่