“ถ้าเป็นข่าวในเชิงลบ ผมว่าในปีที่ผ่านมาหลาย ๆ ประเทศได้ประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติทั่วโลก รวมทั้งภูเก็ตเราด้วย”
“เราเจอวิกฤตเรื่องของภัยพิบัติ ตั้งเเต่น้ำท่วมเเละดินโคลนถล่มในวันที่ 29-30 มิ.ย. ถัดมา 23 ส.ค.มีเหตุการณ์ดินถล่มที่เขานาคเกิดทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 13 คน ครั้งที่สองเป็นภัยพิบัติที่ทำให้มีการสูญเสียการเสียชีวิต จังหวัดภูเก็ตได้มีแผนปฏิบัติการบัญชาการเหตุการณ์ฟื้นฟูเเละป้องกันภัยพิบัติคู่กับการกู้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการเยียวยาก็ดำเนินการได้เรียบร้อย”
การท่องเที่ยวฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าปี 62 หรือปีที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19
“เหตุการณ์ที่ดีของปีนี้คือการท่องเที่ยว ภูเก็ตเริ่มฟื้นตัวในปี 65 เเละในปี 66 ฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 67 พบว่ามีมากกว่าปี 62 และมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกันซึ่งมากกว่าในปีก่อนโควิด” นายโสภณ กล่าว “ข้อมูลนักท่องเที่ยวตั้งแต่ ม.ค. – ก.ย. 67 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่า 9 ล้านคน รายได้มากกว่า 3.6 แสนล้าน เข้าไฮซีซั่นก็คาดกว่าจะสูงกว่าปี 62”
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดภูเก็ตนั้นยังไม่สามารถตอบโจทย์กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ “จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่จะรับการท่องเที่ยว มีความขาดแคลนและงบประมาณที่มีน้อย ภูเก็ตมีปัญหาเรื่องการจราจรเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของถนน ถนนที่มีจำนวนน้อยกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก”
ในเบื้องต้นจังหวัดภูเก็ตได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาด้านการจราจรไปแล้ว 2 เรื่อง
“เหตุการณ์เเรกคือการที่ไปขอพื้นที่ถนนหลังวัดท่าเรือจากเดิม 3 เมตรขยายเป็น 5 เมตร ซึ่งทำให้รถสามารถสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์กับประชาชน ลาดยางเรียบร้อย เเละกำลังจะขอเพิ่มอีก 1 เมตร เป็น 6 เมตร ซึ่งกำลังเจรจาอยู่ และเรื่องที่สองคือ 3 ตระกูลมอบที่ดินให้ขยายถนนรวมระยะทาง 6 กม. กว้าง 12 ม. จากพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ไปยังบางเหนียวดำ (กะทู้-ศรีสุนทร) เพื่อเดินทางต่อไปยังสนามบินภูเก็ต ยกให้เป็นสมบัติและสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดภูเก็ตได้ใช้ร่วมกัน”
“นอกจากนี้เราก็พยายามทำโครงการนำรถขนส่งสาธารณะเข้ามาให้บริการแก่ประชาชน ได้มีการพูดคุยกับบริษัทเอกชนเพื่อให้ลดการนำรถเข้าเเล้วไปใช้บริการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการให้มีการจัดสรรรอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน เพื่อลดจำนวนรถที่พนักงานจะขับไปทำงาน เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและถือเป็นสวัสดิการด้วย”
โครงการในปี 2568
“ในปี 2568 จังหวัดภูเก็ตมีหลายประเด็นที่จะดำเนินการเเละอยากที่จะสานต่อ สิ่งสำคัญเรื่องเเรกคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ภูเก็ต 90% ของรายได้มาจากการท่องเที่ยวซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เราได้รับถนนจากโครงจากการทางพิเศษ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเวนคืน สายภูเก็ตเมืองใหม่ไปยังกะทู้และลอดอุโมงค์ไปยังป่าตอง ซึ่งท่านรองผู้ว่าการทางพิเศษได้ยืนยันแล้วว่าจะดำเนินการนี้ และจะเกิดขึ้นแน่นอน อยู่ในขั้นตอนของการเวนคืนที่ดิน”
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างถนนคู่กับสาย 402 “เป้าหมายการดำเนินโครงการจะเริ่มในปี 68 และเสร็จในปี 72 ใช้เวลานิดหนึ่งเเต่จะได้เส้นทางจราจรที่ผ่อนคลายรถมากขึ้น เเละลดเรื่องปัญหาจราจรได้อย่างมาก”
“ภูเก็ตมีการส่งเสริมรถสาธารณะ EV เเละ อบจ.ภูเก็ตเริ่มซื้อมาแล้ว 20 คัน ตอนนี้เรามีภูเก็ตสมาร์ทบัส และภาคเอกชนทดลองให้บริการรับส่งนักเรียน ทำบัตรสมาชิกรายเดือนลดค่าเดินทาง ช่วยกันลดปริมาณรถเเละเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนการขนส่งทางอากาศ สนามบินภูเก็ตมีการขยายหลุมจอดอีก 4 หลุม เเละโครงการก่อสร้างสนามบินอันดามันที่พังงาของส่วนกลาง” นายโสภณ กล่าว
“จากบทเรียนเรื่องอุทกภัยในปีที่ผ่านมา จังหวัดได้ประสานให้ท้องถิ่นจัดการจัดซื้อเครื่องผลักดันน้ำมาติดตั้งกันเองในปีหน้า อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่เกิดในช่วงฤดูฝนก็มีการวางแผนที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย”
“ส่วนการแก้ปัญหาน้ำในระยะยาวจังหวัดภูเก็ตได้ของบประมาณดำเนินโครงการขอดึงน้ำจากเขื่อนเชี่ยวหลาน การประปาส่วนภูมิภาคศึกษาโครงการแล้ว รัฐบาลสมัยนายเศรษฐาฯ อนุมัติโครงการแล้ว ถ้าได้ตรงนี้มาเรื่องปัญหาน้ำในจังหวัดภูเก็ตก็จะหายไป”
นอกจากนี้นายโสภณได้พูดถึงประเด็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างการดูแลป่าชายเลน การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่ได้ประสานบริษัทจากจีนให้ช่วยออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาขยะที่ได้ขออนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างโรงเตาเผาขยะแห่งที่ 2 และพูดคุยถึงการนำเข้าเพิ่มอีก 1 ตัว (700 ตัน/วัน) ซึ่งหากเป็นไปตามแผนภูเก็ตก็จะสามารถกำจัดขยะได้วันละ 2,100 ตัน/วัน
ในส่วนของการศึกษาทางจังหวัดก็ได้ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เพื่อให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาตามเกณฑ์ เพราะจากข้อมูลยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังตกหล่น รวมไปถึงการแสดงศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติ ที่จะตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวด้านศิลปะ รวมไปถึงงานสำคัญอื่น ๆ ที่จังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวและความเป็นอัตลักษณ์ของภูเก็ต “เมืองแห่งไข่มุกอันดามัน”
“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาการทำงานได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคสังคม พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชน เมื่อได้รับข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ ก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการแก้ไขโดยทันที ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วน จังหวัดไม่สามารถทำงานด้วยโดดเดี่ยวได้ เเม้กระทั่งส่วนราชการเอง เเต่เพราะมีภาคีเครือข่ายจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พี่น้องสื่อมวลชนเข้ามาช่วยกันทั้งหมด ไม่ว่าคนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ก็ต้องช่วยกันเพื่อพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น คนอยู่ที่มีความสุข คนมาเที่ยวก็มีความสุข” นายโสภณ กล่าว
“จังหวัดภูเก็ตจะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองที่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน มีความเป็นเอกลักษณ์ คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตมีความสุข และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มาเยือน เกิดความประทับใจ อย่างไรก็ตามในส่วนของนักท่องเที่ยวได้ขอความร่วมมือกงสุล 28 ประเทศให้แจ้งนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายรวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย เเละนัดรายงาน ทุก ๆ สองเดือนครั้ง หากมีผู้กระทำผิดก็จะมีการดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมาจนถึง ณ ตอนนี้ได้มีการเพิกถอนนักท่องเที่ยวกว่า 400 ราย”
“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านนับถือ ได้โปรดดลบันดาลให้ทุกคนมีความสุขมีสุขภาพร่างกายที่ดี ประสบกับสิ่งที่ดีและเป็นมงคลกับตนเอง ชีวิต และครอบครัวทำกิจการใดให้มีความสำเร็จ ในความเจริญก้าวหน้า ให้ร่ำรวย และที่สำคัญก่อให้ดูแลสุขภาพมีสุขภาพที่ดี คิดดี ทำดี มีมิตรที่ดี ขอให้ประสบความสำเร็จตลอดปี 2568 และตลอดไป”