เร่งตรวจแรงงานประมง หลังพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่ เรือประมงขอภาครัฐปิดท่าเรือตรวจเชื้อ 100%

ภูเก็ต – วันนี้ (19 ส.ค. 64) ที่ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต องค์การสะพานปลา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่พร้อมแพทย์หน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบแรงงานประมง หลังมีการเสนอให้มีการปิดท่าเทียบเรือประมงจังหวัดภูเก็ต (องค์การสะพานปลา)

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 19 สิงหาคม 2564, เวลา 11:02 น.

โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการเร่งติดตามตรวจสอบผู้ที่ได้รับเชื้อ โควิด-19 จากแรงงานประมงซึ่งที่ผ่านมาพบมีผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานประมงทั้งชาวไทยและต่างชาติสูงขึ้นเป็นลำดับจนต้องมีการกักตัวในพื้นที่พร้อมมีการเสนอปิดพื้นที่ เพื่อค้นหาเชิงรุกของแรงงานประมงในพื้นที่ทั้งหมด

ทั้งนี้ ในส่วนผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ ได้มีการหาแนวทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและนำตัวผู้ที่ติดเชื้อมาทำการรักษาให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน และได้มีการเสนอทางประมงจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้ปิดท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตหรือท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา เป็นเวลา 14 วัน เพื่อนำตัวแรงงานประมงพาณิชย์ทั้งหมดมาทำการตรวจหาเชื้อให้ได้ 100% หากพบผู้ติดเชื้อก็จะดำเนินการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม ส่วนของกลุ่มเสี่ยงก็จะทำการกักตัวไว้บนเรือ ปิด และคาดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีคำสั่งปิดในวันที่ 20 ส.ค. นี้

ขณะที่ นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงภูเก็ต กล่าวถึงเหตุผลที่เสนอให้ปิดท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตว่าด้วยแรงงานประมงส่วนใหญ่จะมีร่างกายแข็งแรงและมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วกว่า 90% แต่เหตุที่เกิดคลัสเตอร์การติดเชื้อโควิด-19 ขึ้น เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดมรสุมเรือไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ ทำให้ลูกเรือประมงลงจากเรือมาขึ้นฝั่ง และไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ก่อนที่จะนำเชื้อไปติดคนที่อยู่บนเรือ และเกิดการแพร่กระจาย เพราะที่ผ่านมาบนเรือไม่เคยมีการติดเชื้อแต่อย่างใด

นายสมยศ กล่าวต่อไปว่า เหตุที่ต้องเสนอให้ปิดในระยะนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เรือประมงอวนล้อมซึ่งเป็นเรือส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลามีจำนวนประมาณ 40 ลำ หยุดทำการประมงชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 7-8 วัน เนื่องจากเป็นช่วงเดือนหงาย แม้ว่าหายจะกินระยะเวลาเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบทั้งหมดยินดีให้ความร่วมมือ ส่วนของฝั่งท่าเรือหรือแพปลาของเอกชนนั้น เนื่องจากส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นเรืออวนลาก วิธีการทำงานส่วนใหญ่จะอยู่กลางทะเลอย่างน้อย 10 วัน และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการได้วางมาตรการว่า เมื่อเรือเข้ามาเทียบท่าห้ามลูกเรือทั้งหมดออกจากท่าโดยเด็ดขาดเมื่อลงปลาเสร็จก็ให้เรืออกจากท่าทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการออกประกาศไว้แล้ว พร้อมทั้งในส่วนของฝ่ายปกครองก็ได้มีการจัดตั้งด่านตรวจด่านสกัดเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเรือออกไปจากท่าเรือ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ล่าสุดวันที่ 18 สค. 64 จังหวัดภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 89 ราย จากสถานที่กักกันของรัฐ 36 ราย โครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ 2 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 53 ราย รวมติดเชื้อสะสม 2,171 ราย จากโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ 60 รายเสียชีวิตสะสม 16 ราย รักษาในโรงพยาบาล 847 ราย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่