เกาะยาวน้อย ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเข้มแข็ง รางวัลการันตีเพียบ

พังงา – เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 พ.ค. 61) ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา คณะสื่อมวลชน ผู้ประกอบการนำเที่ยวและผู้เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย เพื่อร่วมประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข่าวภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม 2561, เวลา 09:32 น.

นางศิรวี วาเล๊าะ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามันเป็นประธานนำคณะสื่อมวลชน, ผู้ประกอบการนำเที่ยวและผู้เกี่ยวข้อง กว่า 30 คน ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT ของเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ( ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, ตรัง และสตูล) ลงพื้นที่โดยได้รับเกียรติจาก นายสุรสิทธิ์ ขันติพันธุกุล นายอำเภอ เกาะยาว กล่าวต้อนรับ พร้อมระบุว่า อำเภอเกาะยาว ประกอบด้วย 3 ตำบล 18 หมู่บ้าน ประชาชน 90 % ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม

โอกาสนี้ นายสำเริง ราเขต ประธานชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย กล่าวว่า ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย รวมตัวกันเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทรัพยากรทางทะเลให้ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพประมง

ต่อมาในปี 2540 เมื่อทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น กลุ่มชุมชนจึงรวมตัวกันส่งเสริมเรื่องราวของการท่องเที่ยวชุมชนโดยบริหารจัดการเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวที่มาพักได้เข้ามาพักผ่อนเมื่อชาวประมงในชุมชนออกไปทำการประมง ดักอวนจับปลาจับปู นักท่องเที่ยวเองก็สามารถเดินทางไปชมทำการประมงร่วมกับชาวประมงได้ จึงทำให้ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย มีความโดดเด่นด้านการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เพราะยังคงมีธรรมชาติที่อุดมความสมบูรณ์และมีการคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเกิดเป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาพักผ่อนและชื่นชมธรรมชาติ สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีจุดเด่น ของการ บริหารจัดการชุมชนที่ดีมีการจัดทำผังเมืองมีการออกกฎหมายของชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อยให้ความสำคัญกับการสอดแทรกวิถีชีวิตพื้นบ้านจนประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทางชุมชนได้รับรางวัลการันตีมากมาย อาทิ ปี 2545 ได้รับรางวัล World Legacy Award จากนิตยสารของสหรัฐอเมริกา, ปี 2545 และ 2547 ได้รับรางวัลดีเด่นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ปี 2548 ถึง 2561 ได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปี 2552 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม Tourism Award จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ปี 2559 ได้รับรางวัลโฮมสเตย์ยอดเยี่ยมอาเซียน ซึ่งทุกรางวัลถือเป็นการการันตี คุณภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากความสำเร็จดั่งกล่าวชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวได้มีโครงการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ของการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับชุมชนใกล้เคียงในอนาคตต่อไปด้วย

จากนั้นคณะจึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่ศาลาเรียนรู้ ศพก. ของชุมชนเกาะยาวน้อย โดยมีนายมงคล กล้าสมุทร เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ว่า กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ฯได้มีการนำขยะอินทรีย์จากชุมชนมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ ซึ่งสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยมีต้นทุนในการผลิตปุ๋ยกก. ละ 7 บาทแต่สามารถจำหน่ายได้ในราคากก.ละ 10 บาท โดยมีกำลังการผลิต 300 กก.ต่อวัน จุดเด่นของการดำเนินการของศาลาเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้คือมีการผลิตปุ๋ยที่ปลอดสารพิษจำหน่ายให้แก่ประชาชนในชุมชนในราคาที่ถูก ซึ่งจากเดิมประชาชนต้องซื้อปุ๋ยเคมีในราคากก.ะ 20 - 30 บาทแต่เมื่อมีการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ทำให้ประชาชนสามารถหาซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้ในการทำการเกษตรได้ในราคาถูกขึ้นและปุ๋ยที่ใช้ไม่มีสารพิษตกค้างทำให้เป็นการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปได้ด้วย โดยส่วนใหญ่ปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการทำการเกษตรการทำนาข้าว, ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้ในพื้นที่

เมื่อเสร็จจากกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ คณะจึงได้เดินทางต่อไปยังแปลงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ของนายอุสัน บัวทอง ที่มีลักษณะเป็นสวนมะพร้าวและยังสามารถเยี่ยมชมการเลี้ยงควายในทุ่งนา ต่อเนื่องด้วยการเยี่ยมชมการทำนาข้าว 800 ไร่ จากภาคการเกษตรคณะได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชมด้านการประมง จึงจัดให้มีการดูกระชังเลี้ยงกุ้งมังกรและเลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ปลาม่อง 150 บาท/ก.ก., ปลาเก๋า 280 บาท/ก.ก., ปลาช่อนทะเล 150 บาท/ก.ก. นอกจากนี้ยังมีปลาฉลามเสือ, ปลาหูช้าง, ปลาดาว, ปลาฉลามหนู, แมงดาทะเล, ปลางัว และปลาสิงโตทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อคณะได้เยี่ยมชมกิจกรรมต่าง ๆ จนครบ ก็ได้เดินทางมาประชุมระดมความคิดเห็นบอกกล่าวปัญหาอุปสรรคร่วมสรุปข้อมูลเพื่อประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะยาวน้อยเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาบริหารจัดการการท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยวบ้านเกาะยาวน้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นพร้อมในการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป

แหล่งที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่