พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.5 (กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 - CCID5) เปิดเผยกับ The Phuket News ว่า แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 แต่ผลกระทบจากการโทรเข้ามาหลอกลวงเหยื่อในรูปแบบต่าง ๆ และการฉ้อโกงออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีที่แล้ว
“ในปี 2565 มีเหยื่อ 1,365 รายในจังหวัดภูเก็ต รายงานความเสียหายมูลค่า 10.9 ล้านบาท และภายในปี 2566 จำนวนเหยื่อได้เพิ่มขึ้นเป็น 3,538 ราย มูลค่่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 18.8 ล้านบาท” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว “แต่ในปี 2567 ผู้คนจำนวน 5,510 คนตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีรายงานความเสียหายเพิ่มเป็น 413 ล้านบาท”
การเพิ่มขึ้นของจำนวนเหยื่อและมูลค่าความเสียหายที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท. หรือ TCSD) ออกคำเตือนประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ และออกแนวทางปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากเหล่ามิจฉาชีพ พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว
ภัยคุกคามระดับชาติ
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จัดตั้งขึ้นในปี 2563 หลังจากอาชญากรรมทางไซเบอร์และการฉ้อโกงทางออนไลน์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ จนเป็นที่รู้จักของประชาชนในนาม “ตำรวจไซเบอร์”
ในฐานะ ผกก.1 บก.สอท.5 พ.ต.อ.กฤษฎา ดูแลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์ใน 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงภูเก็ตด้วย ชี้ว่าเฉพาะในเดือนมกราคม 2568 ประเทศไทยมีบันทึกคดีฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 31,165 คดี เฉลี่ย 1,005 คดีต่อวัน
“ในบรรดาคดีเหล่านี้ การฉ้อโกงผ่านช่องทางขายของออนไลน์คิดเป็น 55.88% โดยเหยื่อสูญเสียเงินไปกว่า 145 ล้านบาท” พ.ต.อ.กฤษฎา เปิดเผยกับ The Phuket News
กลโกงการหลอกลวงทั่วไปอื่น ๆ ได้แก่ การเสนองาน การแจ้งว่าถูกรางวัล คอลเซ็นเตอร์ สินเชื่อและการหลอกลงทุน ซึ่งสร้างความเสียหายรวมเกินกว่า 2 พันล้านบาทในเดือนแรกของปีนี้ และในด้านการปราบปรามเหล่ามิจฉาชีพทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการอายัดบัญชีธนาคาร 10,410 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง ยึดทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 448 ล้านบาท
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตำรวจไซเบอร์ ยืนยันว่าได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการฉ้อโกงทางออนไลน์มากกว่า 200,000 คดี โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณกว่า 29,000 ล้านบาทในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา
และจากรายงานข่าวระบุว่า พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สว.กลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ บก.ตอท.บช.สอท. เผยว่าภัยการหลอกลวงทางออนไลน์ปัจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยการฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆ สร้างมูลค่าความเสียหายอย่างน้อย 100 ล้านบาทต่อวัน และทางเจ้าหน้าที่สามารถนำเงินคืนกลับมาให้เหยื่อได้เพียง 10% เท่านั้น
วิวัฒนาการกลโกง
“ในขณะเดียวกันกลวิธีที่นำมาใช้หลอกลวงออนไลน์คนในภูเก็ตได้ถูกพัฒนาโดยมุ่งเป้าไปที่เหยื่อผ่านการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ หลอกให้ทำงานรายได้พิเศษ และหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน” พ.ต.อ.กฤษดา กล่าว “ในปี 2565 การหลอกลวงส่วนใหญ่เป็นการโทรหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการที่ไม่เป็นกระบวนการ หลอกให้ทำงานหารายได้พิเศษ และหลอกให้กู้เงินอันมีลักษณะฉ้อโกง ภายในปี 2566 การหลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน มีความซับซ้อนมากขึ้นและการหลอกขายก็เพิ่มขึ้น” เขากล่าว
“ในปี 2567 มิจฉาชีพเปลี่ยนไปใช้แผนการหลอกให้กู้เงินและการหลอกลงทุน ในขณะที่หลอกซื้อขายสินค้าและบริการยังคงเป็นรูปแบบที่มีมากที่สุด” “การโทรหลอกลวงถูกพัฒนาไปอย่างมากมิจฉาชีพใช้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัว” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว
“กลยุทธ์ทั่วไป ได้แก่ การขอรายละเอียดบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเครดิต เอกสารสำคัญ หรือการโอนเงินโดยอ้างว่าเป็นการเร่งรัดคดี” เขาอธิบาย “สิ่งที่ทุกคนควรรับรู้คือ การแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานภาครัฐจะส่งเป็นจดหมาย ไม่ใช่การโทรศัพท์หรือข้อความไลน์”
“เบอร์ส่วนใหญ่จะเป็นเบอร์ใช้เเล้วทิ้ง เพราะฉะนั้นไม่เเนะนำให้โทรกลับ ถ้าเคยรับเเล้วมีการพูดจาแปลก ๆ ให้บล็อกไปเลยก็ได้ แต่มิจฉาชีพก็จะมีการเปลี่ยนเบอร์อยู่เรื่อย ๆ ตลอด” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว “แนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันแสดงหมายเลขผู้โทร เช่น Whoscall, Call Blocker และ TrueCaller เพื่อระบุการโทรที่อาจเป็นมิจฉาชีพและบล็อกหมายเลขที่น่าสงสัย”
กรณีข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลอาจเกิดได้หลายช่องทาง จากบริษัทต่าง ๆ พนักงาน จากผู้ให้บริการโทรคมนาคม ธนาคาร หรือบริษัทขนส่งที่อาจจะขายข้อมูลลูกค้าให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ “ตำรวจไซเบอร์ได้มีการขยายผลจับกุมหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่ลักลอบขายข้อมูลลูกค้าเครดิตดี ราคารายชื่อละ 1 บาท รายได้หลักหมื่นต่อเดือน และพบว่าข้อมูลบางส่วนหลุดถึงมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าว
แจ้งความเมื่อตกเป็นเหยื่อ
“หากท่านตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพขอให้เข้าแจ้งความ ตำรวจท้องที่จะประเมินความเสียหายและทำงานร่วมกับ “ตำรวจไซเบอร์” (CCIB และ TCSD) เพื่อทำการสอบสวนต่อไป” พ.ต.อ.กฤษฎา เน้นย้ำ
ทางด้าน พล.ต.ต.สินเลิศ สุขุม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ The Phuket News ว่า “หากชาวต่างชาติหรือชาวไทยได้รับโทรศัพท์หลอกลวงและตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขั้นตอนแรกคือการแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือติดต่อ 1441 เพื่ออายัดบัญชีธนาคาร”
สายด่วน 1441 (ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC) เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีหน้าที่เป็นศูนย์รับเรื่องราวจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะมีกระบวนการทำงานแบบรวมศูนย์กลาง บูรณาการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ให้บริการ one stop service แก่ประชาชน ช่วยดำเนินการ ระงับ/อายัดบัญชี ได้ทันที รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชน
“ในขณะที่อาชญากรรมในโลกไซเบอร์ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างมาตรการบังคับใช้ ให้ความรู้แก่ประชาชน และทลายเครือข่ายมิจฉาชีพ” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าวยืนยัน
“การต่อสู้กับการหลอกลวงทางออนไลน์ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้ให้ทันมิจฉาชีพ และต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงิน รวมถึงความตระหนักรู้ของสาธารณชน เพื่อลดความเสี่ยงและปกป้องบุคคลจากการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์” พ.ต.อ.กฤษฎา กล่าวสรุป