“การก่อสร้างถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบอันเลวร้ายจากดินถล่ม” นายโสภณ เปิดเผยกับ The Phuket News
“ลองนึกถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรถที่กำลังเคลื่อนที่ แล้วลองนึกถึงน้ำหนักของเครื่องจักรหนัก การขุด และการก่อสร้าง แรงสั่นสะเทือนเหล่านี้ทำให้ดินไม่มั่นคง ทำให้เกิดดินถล่มได้ง่ายขึ้นและสร้างความเสียหายมากขึ้น”
หัวหน้า ปภ.ภูเก็ต ยอมรับว่า ตำแหน่งของจุดที่เกิดดินถล่มด้านหลังวัดกะตะ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มหรือน้ำท่วมของ ปภ.ภูเก็ต ด้วยซ้ำ
“ผมยอมรับว่าเรามองข้ามพื้นที่กะรนในฐานะพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม โดยในช่วงแรกเรามุ่งเน้นเฉพาะที่กมลาเท่านั้น” นายโสภณ กล่าว “ภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการปลูกบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและกิจกรรมก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ผมเชื่อว่านี่เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข”
อย่างไรก็ตาม นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สาเหตุของดินสไลด์โคลนถล่มนั้นไม่ได้มาจากการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย
“ฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ดินดูดซับความชื้นส่วนเกินจนพังทลาย เมื่อฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดดินถล่มได้” นายโสภณ อธิบาย
“นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวมีความลาดชันสูงสลับกับภูมิประเทศที่เป็นหินเก่ามาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการพังทลายของดิน และทำให้พื้นดินลื่นและไม่มั่นคงมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มในพื้นที่ดังกล่าวด้วย” เขากล่าวเสริม
นายโสภณ ได้มีการเน้นย้ำเป็นพิเศษในพื้นที่พื้นที่กะรน กมลา และเขาพันธุรัตน์ บริเวณขอบด้านตะวันตกของเกาะแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มในช่วงที่เกิดฝนตกหนักในลักษณะเดียวกัน
“เราจะเน้นการออกคำเตือนที่ชัดเจนผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งเอกสารคำเตือน กลุ่มไลน์ กำนัน รวมถึงการอัพเดทข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข้อมูลไปถึงทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพ”
นายเฉลิมพงศ์ แสงดี สส.จังหวัดภูเก็ต เขต 2 พรรคประชาชน กล่าวกับ The Phuket News ว่า ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุของดินถล่มน่าจะเกิดจากภัยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะการก่อสร้าง
“เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กะรน ได้มีการประชุมกับทางกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหาสาเหตุที่เเท้จริงของอุทกภัยครั้งนี้ และผลกระทบที่ทำให้มีผู้คนเสียชีวิต” นายเฉลิมพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่าการก่อสร้างผิดกฎหมายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุดินสไลด์หรือไม่ นายเฉลิมพงศ์ กล่าวว่า “ผมว่าใช่ จากการคาดการณ์นี่ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุ เนื่องจากการมีก่อสร้างที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากวิศวกร หรือได้รับการอนุญาตที่จากหรือมีการปรึกษาหารือ มีการก่อสร้างเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และได้รับวางผังที่ถูกต้องในการก่อสร้างทำให้ชะลอน้ำไหล และมีเหตุบ้านถล่ม หรือบ้านที่อาจจะกันทางน้ำ” นายเฉลิมพงศ์ กล่าวเสริม
“การก่อสร้างหลายอย่างไม่ได้รับการตรวจสอบหรือวางแผนอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การไหลของน้ำถูกกีดขวาง อาจทำให้บ้านเรือนพังถล่มหรือกีดขวางทางน้ำ”
นายเฉลิมพงศ์ กล่าวอีกว่า “เป้าหมายหลักตอนนี้คือมาตรการป้องกันและเเก้ไข หนึ่งคือการลงพื้นที่เพื่อจัดระเบียบทางน้ำ กรุยทางให้น้ำไหลได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้”
“รวมไปถึงเพิกถอนพื้นที่บางส่วนที่กันทางน้ำ เพื่อเป็นการหวนคืนให้กลับไปให้เป็นป่า ยกเลิกพื้นที่ดังกล่าวและคืนสภาพป่าธรรมชาติให้กลับคืนสู่สภาพเดิม”
“และสามมาตรการการยกระดับการเตือนภัย จะมีการยกรับดับเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้พี่น้องประชาชน ได้เตรียมตัวต่อการเคลื่อนย้าย หรือทราบข่าวอุทกภัยอย่างรวดเร็ว และสามารถเตรียมตัวอพยพ หรือรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้” นายเฉลิมพงศ์ กล่าว