ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ภูเก็ต - ด้วยบทบาทขององค์กรเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริ และสนองพระราโชบายด้านการศึกษาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ผ่านการดำเนินโครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่น

ข่าวภูเก็ต

วันอาทิตย์ ที่ 12 พฤษภาคม 2562, เวลา 09:00 น.

ภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

โดยในระยะที่ 1 มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงาน และองค์กรภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งมุ่งเน้นครอบครัวของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และประชาชนผู้สนใจในศาสตร์พระราชา ในพื้นที่รับผิดชอบคือ จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ เข้าร่วมการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 1” ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน ม.ราชภัฏภูเก็ต ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

นางสาวขนิษฐา ธนาวิรัตนานิจ ผู้ดำเนินงานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน กล่าวถึงรายละเอียดการจัดอบรมศาสตร์พระราชาในครั้งนี้ว่า “เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดำรงอยู่อย่างพอเพียงและอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ผันผวน รวมทั้งเป็นศาสตร์ที่ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถทำได้ ทำเป็น และดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองอันนำสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้จริง มหาวิทยาลัยซึ่งได้มีการจัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามันขึ้นมา ซึ่งเป็นเครือข่ายของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเอง ด้วยความร่วมมือของทีมงานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช บุคลากร นักศึกษา ม.ราชภัฏภูเก็ต และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันซอแรง* (*เป็นคำภาษาใต้ หมายถึง การออกแรงร่วมกัน เกื้อกูลกัน) ออกแบบและจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นภายในมหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าว เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยมีการบรรยายให้ความรู้และสอนเทคนิควิธีการในการทำเกษตรแบบศาสตร์พระราชาโดยผ่านกิจกรรมการบรรยายและการปฏิบัติตามฐานต่างๆ ได้แก่ ฐานคืนชีวิตให้แผ่นดิน / ฐานฅนรักษ์แม่ธรณี / ฐานควนป่านาเล (ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) / ฐานฅนมีน้ำยา / ฐานฅนรักษ์น้ำ / ฐานขยะทองคำ / ฐานผักอินทรีย์คนเมือง และ ฐานฅนรักษ์สุขภาพ”

ดาบตำรวจ นิรันดร์ พิมล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง วิทยากร เผยถึงประโยชน์ที่ผู้เข้ารับจากการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาสิของจริง เป็นแนวคิดที่ขับเคลื่อนศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน เนื่องจากเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สอน ‘วิชาเอาตัวรอด’ เมื่อประชากรมากขึ้น แต่สวนทางกับจำนวนทรัพยากรหรือแหล่งอาหารที่มาจำกัด เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีโอกาสที่อาหารจะขาดแคลน แม้จะมีทรัพย์มากเพียงใดก็ไม่สามารถซื้อหากันได้ ดังนั้นประเด็นเรื่องการผลิตแหล่งอาหารเป็นเรื่องหลัก สำหรับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามันได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาประยุกต์ใช้กับเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมุ่งหวังว่าแหล่งเรียนรู้จะช่วยจุดประกายและปรับมุมมองคนเมืองในภูเก็ตและอันดามันที่มีพื้นที่ กลับมาพลิกผืนดินสร้างแหล่งทรัพยากร เพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้กลับมาอีกครั้ง”

ด้านคุณวณิชนันท์ ชัยชนะ หนึ่งในทีมงานวิทยากร เผยถึงสาเหตุที่ได้สละเวลาเข้าร่วมการเป็นจิตอาสาในการดูแลศูนย์กสิกรรมฯ ว่า “คนในยุคนี้น้อยคนนักที่จะสามารถปลูกพืชผัก หรือผลิตส่วนประกอบอาหารทานในครัวเรือนได้เฉกเช่นคนในยุคก่อน ในขณะที่ภูเก็ตมีความแออัด มีแต่ผู้ที่รอการบริโภค แต่ไม่เรียนรู้การผลิต เชื่อว่าความมั่นคงทางด้านอาหารจะแย่ลงในอนาคตอันใกล้ ทางรอดคือการเรียนรู้การดูแลดิน ปลูกผัก ปลูกข้าว หมุนเวียนได้อย่างยั่งยืน โดยใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย ซึ่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน ณ ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้พัฒนาพื้นที่ในมหาวิทยาลัย เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ากับคนทุกเพศ ทุกวัย ได้มาเรียนรู้ศาสตร์แห่งการดำรงชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องผลักดันให้ตนเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้”

คุณกิติยา ต่อทีฆะ ผู้ประกอบการธุรกิจ Phuket Boat Quay - Boutique Hotel ผู้เข้าอบรม กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในครั้งนี้ว่า “ในฐานะของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ที่ต้องพึ่งพาความสมบูรณ์ของธรรชาติและสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันเรามักใช้ทรัพยากรอย่างเกินตัวจนขาดความสมดุล จึงได้มาศึกษาเทคนิคการผลิตน้ำยาเอนกประสงค์นำไปพัฒนาใช้กับธุรกิจ
ของตน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ปลอดสารพิษตกค้าง และช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกทาง”

คุณสุชาติ เลิศศุภกุล ข้าราชการเกษียณอายุ บอกถึงจุดประสงค์ในการเข้าอบรม ว่า “มีพื้นดินว่างเปล่าที่บ้านอยู่หนึ่งแปลง เป็นดินถมไม่สามารถปลูกพืชได้ จึงต้องการความรู้ในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ที่สอนให้เลี้ยงดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืช และสอนเทคนิคการทำปุ๋ยจุลินทรีย์ หลังจากนี้จะนำความรู้กลับไปปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษทานในครัวเรือน และปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่ หลักสูตรนี้ไม่เพียงเหมาะกับเกษตรกร แต่คนเมืองก็สามารถมาเรียนรู้กันได้ ขอเชิญชวนผู้สนใจมาศึกษาศาสตร์พระราชาได้ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน ม.ราชภัฏภูเก็ต

คุณธรรมภรณ์ สุวรรณ จิตอาสาผู้ประสานงานศูนย์กสิกรรมฯ เผยว่า “จากการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบตามวิถีคนเมืองมาเป็นระยะเวลานาน รู้สึกเหนื่อยล้า และตั้งคำถามกับตัวเองถึงคุณค่าของการอยู่ในสังคม ว่าเหตุใดเราจึงเป็นผู้ตักตวงทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ที่อาศัยอยู่ เมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์พระราชา จึงเห็นถึงแนวคิดที่ยั่งยืน เกิดประโยชน์กับส่วนรวม เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย และสามารถหล่อเลี้ยงเกาะภูเก็ตได้ในระยะยาว คือการทำการเกษตรและผลิตแหล่งอาหารเพื่อชุมชน เมื่อมหาวิทยาลัยได้เปิดแหล่งเรียนรู้ขึ้นมา จึงยินดีที่จะเข้าร่วมสนับสนุนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับประชาชน จิตอาสาทุกคนที่ศูนย์ฯ ทุกคนทำงานด้วยใจ เพื่อต้องการสานต่องานของ ‘พ่อ’ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้ได้”

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจากความมุมานะและการสนับสนุนของบุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัย และจิตอาสาผู้ทุ่มเท เพื่อหวังถ่ายทอด “ศาสตร์พระราชา” ให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนศิวิไลซ์อย่าง “อันดามัน” มีโอกาสเปิดใจ และลงมือทำ พลิกผืนดินสร้างโอกาส และรักษาหลักปรัชญาอันทรงคุณค่าให้คงอยู่สร้างประโยชน์สืบไป

- ม.ราชภัฏภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่