ศิลปะการสื่ออารมณ์ผ่านเส้นใยผ้า

“โตราคาน” ร้านผ้าพื้นเมืองลวดลายแปลกตาบนถนนถลาง

เปรมกมล เกษรา

วันอาทิตย์ ที่ 16 กรกฎาคม 2560, เวลา 15:00 น.

ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนถนนถลาง ย่านเมืองเก่าภูเก็ต จะรู้สึกสุขใจเสมอ ภาพตึกรามบ้านช่องชิโน-โปรตุกีสอันเป็นเอกลักษณ์ที่ตั้งเรียงรายสองข้างทาง กลิ่นกาแฟอันหอมหวลของคาเฟ่และโรตีที่โชยเข้ามาทักทายจมูก ร้านขายของฝากน่ารักๆ และจุดเด่นบนถนนถลางที่ขาดไม่ได้คือร้านขายผ้าที่มีให้เห็นอย่างละลานตา

ร้านขายผ้ากลายมาเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของถนนถลางและกลายมาเป็นที่แรกที่คนภูเก็ตนึกถึงยามต้องการหาซื้อผ้าสักผืน ถนนเส้นนี้มีร้านขายผ้าให้เลือกสรรมากมาย ทั้งร้านขายผ้าเมตรและผ้าผ้าปาเต๊ะที่เป็นของฝากขึ้นชื่ออีกอย่างยามผู้เยี่ยมเยียนมาเยือนปักษ์ใต้ เจ้าของร้านต่างๆต่างแขวนผ้าสีสวยไว้เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ที่สัญจรไปมา มองเผินๆแล้วทุกร้านดูเหมือนกันหมด

หากแต่วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ย่างกรายผ่านร้านผ้าร้านหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจและสายตาได้เหลือบไปพบกับผ้าถุงลวดลายแปลกหลายสิบผืนที่แขวนขนานไปกับผนังราวกับงานจิตรกรรมชั้นเลิศที่ทำให้ผู้เขียนให้เดินเข้าไปในร้านราวต้องมนต์สะกด

คุณสมยศ ปาทาน หรือคุณโต เจ้าของร้านโตคาราน ร้านขายผ้าบนถนนถลางที่มีประวัติยาวนานกว่า 70 ปี โดยคุณโตเล่าให้ฟังว่า “ดั้งเดิมร้านนี้เปิดตั้งแต่สมัยคุณพ่อ คุณพ่อเป็นชาวปากีสถาน มาเปิดกิจการขายผ้าที่ถนนถลาง โดยจะเป็นผ้านำเข้าแท้ 100% จวบจนปัจจุบัน ผมได้สานต่อกิจการนี้มาจากคุณพ่อ ซึ่งยังคงเน้นการนำเข้าผ้าปาเต๊ะ” โดยคัดสรรผ้าทุกผืนด้วยตัวเองอย่างพิถีพิถัน

“คำว่า “บาบ๋า” เป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกประเภทการแต่งกายพื้นเมืองโดยรวมของชาวภูเก็ต ซึ่งจะแบ่งย่อยออกไปอีก 4 ประเภทหลักๆด้วยกันคือ ชุดคอตั้งแขนจีบ เสื้อลูกไม้คอสูง ชุดหน้าห้อย ชุดครุยสั้นและชุดครุยยาว”

“อิทธิพลจากการใส่ผ้าถุงของชาวภูเก็ตนั้นมาจากประเทศแถบช่องแคบมะละกา โดยเริ่มต้นจากประเทศอินโดนีเซียและแพร่หลายเข้ามายังเมืองต่างๆในประเทศใกล้เคียง รวมถึงเกาะภูเก็ตด้วย แต่เดิมแล้วชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่เกาะภูเก็ตได้สวมใส่ชุดกี่เพ้าตามประเพณีจีน แต่ต่อมาได้มีการประยุกต์เครื่องแต่งกายให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศด้วยการตัดรายละเอียดบางอย่างออกไป เช่นตัดส่วนล่างของชุดกี่เพ้าออกและใส่ผ้าถุงแทนเพื่อความเย็นสบายยามสวมใส่เนื่องจากอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีสภาพร้อนชื้น ดังนั้นชุดบาบ๋า-ยาย๋านั้นเป็นศิลปะชั้นเลิศแห่งการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างวัฒนธรรมจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กลายมาเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์เพอรานากัน ซึ่งอยู่กระจายตามหัวเมืองต่างๆเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย เช่นภูเก็ต ตรัง พังงา”

“ชุดบาบ๋า-ยาย๋าที่เห็นกันอย่างแพร่หลายในเมืองภูเก็ตนั้นมีอยู่สองแบบหลักๆด้วยกัน คือ ชุดหน้าห้อย คือเสื้อลูกไม้เนื้อบางปล่อยชายยาวทิ้งตัวลงไปกับผ้าถุง และชุดคอตั้งแขนจีบ ซึ่งเป็นชุดผ้าลูกไม้แขนขาวทรงกระบอกและ คอเสื้อตั้งปิดมิดชิด โดยชุดทั้งสองแบบนั้นสวมคู่กับผ้าถุงปาเต๊ะ”

“ในสมัยโบราณ เมื่อมีงานมงคลสมรสของชาวเพอรานากัน ผู้หญิงจะสวมใส่ชุดหน้าห้อยมารวมตัวกันทำขนมเหนียวกันก่อนวันพิธีแต่งงานหนึ่งวัน ขนมเหนียวคือขนมที่มีลักษณะเนื้อหนืดเหนียวเช่นขนมกาละแม เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเหนียวแน่นเพื่อความรักใคร่ตลอดกาลของคู่บ่าวสาว จากนั้นในวันพิธีแต่งงาน หญิงชาวเพอรานากันจึงจะสวมชุดคอตั้ง-แขนจีบมาร่วมงาน”

“ราคาของผ้าแต่ละชนิดจะแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ การผลิตโดยใช้เครื่องจักร วิธีนี้จะใช้เครื่องจักรในการพิมพ์ลายผ้า ซึ่งจะผลิตครั้งละกี่ผินก็ได้ตามสั่งและมีราคาถูก ประเภทถัดมาคือการผสมผสานระหว่างการใช้เครื่องจักรในการพิมพ์และเพิ่มรายละเอียดด้วยการวาดมือ ราคาจะขยับขึ้นมาหน่อย และประเภทสุดท้ายคือการวาดมือล้วนหรืองานแฮนด์เมด ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาและความปราณีตอย่างมาก ยิ่งลายนั้นละเอียดและมีช่องว่างน้อยแค่ไหน ราคาก็ยิ่งจะขยับสูงขึ้นไปเท่านั้นซึ่งจุดนี้สามารถบ่งบอกฐานะของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี”

“ผ้าถุงที่เป็นที่นิยมในแถบประเทศอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะสีและฉูดฉาด ลวดลายหลักที่ใช้บนผ้าคือดอกไม้และลายกราฟฟิกต่างๆ จะไม่มีลายสัตว์เลยเนื่องจากขัดต่อหลักศาสนา แต่สตรีภูเก็ตนั้นจะนิยมสีโทนอุ่นและดูสบายตาลงมาหน่อย เช่นชมพู ฟ้า โอลด์โรส และประกอบไปด้วยสัตว์มงคลต่างๆ เช่นหงส์ นกต่างๆ หรือสัตว์ทะเล ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง”

“หัวใจหลักของผ้าแต่ละผืนคือลวดลายที่จากการวาดของศิลปินที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ ลายผ้าเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอารมณ์ของศิลปินขณะวาดได้เป็นอย่างดี หากศิลปินมีความสุข ลายของผ้าจะมีสีสัน ดอกไม้เบ่งบานสวยงาม หรือสัตว์บนผืนผ้านั้นดูร่าเริง แต่ถ้าศิลปินกำลังอยู่ในช่วงอารมณ์โศกเศร้า ลายผ้าอาจจะประกอบไปด้วยภาพสัตว์ที่เศร้าหมอง เช่นนกกระยางในท่วงท่าคอตก หรือสีที่ใช้จะมีโทนทึบหรืออึมครีม”

“ลูกค้าบางรายที่ซื้อผ้าไปนั้นไม่ได้นำไปเพื่อสวมใส่เพียงอย่างเดียว หากแต่นำไปใส่กรอบเพื่อตกแต่งบ้าน เพราะผ้าทุกผืนจะสอดแทรกเรื่องราวผ่านเส้นใยผ้าบ่งบอกได้ถึงที่มาของผ้าผืนนั้นๆ ที่แขวนบนผนัง เจ้าของบ้านมีเรื่องราวให้เล่าขานแก่ผู้มาเยือนได้ฟังอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้เรื่องราวต่างๆ บนผ้าบนผนังนั้นสามารถสะท้อนตัวตนเจ้าของบ้านได้ไม่ต่างจากการนุ่งห่ม และนั่นคือเสน่ห์ของผ้าพื้นเมืองของร้านโตราคานของเรา”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่