วิจัยม.อ.ภูเก็ต ชี้โควิด-19 อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจภูเก็ตสูงสุดถึง 1.27 แสนล้านบาท

ภูเก็ต - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (ม.อ.ภูเก็ต) เปิดเผยผลการวิจัยล่าสุด เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยระบุว่า ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 จังหวัดภูเก็ตอาจได้รับผลกระทบและ อาจสร้างความเสียหายต่อรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สูงสุดถึง 1.27 แสนล้านบาท ทั้งนี้การประเมินผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าว ยังไม่รวมผลกระทบจากการหยุดชะงักในการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย

ธัญลักษณ์ สากูต

วันเสาร์ ที่ 9 พฤษภาคม 2563, เวลา 13:00 น.

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับ ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว เปิดเผย ในโอกาสเข้าร่วมประชุม คณะอำนวยการขับเคลื่อน เพื่อรองรับมาตรการนโยบายช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟู ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ดร.ชยานนท์ กล่าวว่า สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดือน ส.ค. ถึง ธ.ค. ทางฝ่ายวิจัยเห็นพ้องว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในหลายภูมิภาคทั้่วโลกยังไม่ถึงจุดที่มีเสถียรภาพ ทางฝ่ายวิจัยจึงขอทบทวนการคาดการณ์อีกครั้งหลังจากมีความชัดเจนทางนโยบายทางการท่องเที่ยวและสถานการ์การระบาดในภูมิภาคหลักอยู่ในระดับช่วงที่มีเสถียรภาพที่สามารถเป็นข้อมูลในการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจได้

ผลวิจัยล่าสุดเผยว่า ภูเก็ตอาจจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงสุดกว่า 127,159 ล้านบาท

“ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ 6 ธุรกิจท่องเที่ยวหลัก โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร สถานประกอบการบันเทิง การบริการ และภาคขนส่งภายในจังหวัดทั้งทางน้ำและทางบก นอกจากผลกระทบทางการชะงักทางรายได้จากการท่องเที่ยวนี้ยังส่งผลต่อธุรกิจอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำของการท่องเที่ยว เช่น การไฟฟ้า ประปา และ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร” ดร.ชยานนท์ กล่าว

“เฉพาะเดือนเมษายนนั้น ที่รายได้จากการท่องเที่ยว = 0 ความเสียหายจากกลุ่มนทท.ต่างชาติ อยู่ที่ 31,943 ล้านบาท โดยความเสียหายดังกล่าวเปรียบเสมือนคลื่นลูกแรกที่กระทบ โรงแรม 9.5 พันล้านบาท ร้านอาหาร 7.4 พันล้าน ร้านค้า 5.5 พันล้าน ธุรกิจบันเทิง 2.9 พันล้านบาท การเดินทางทางบก 2.4 พันล้าน สถานที่ท่องเที่ยว 2 พันล้าน และธุรกิจอื่น ๆ อีก 1.9 พันล้าน” ดร.ชยานนท์ กล่าว

หากพิจารณาผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของภูเก็ต (Gross provincial product) ในช่วง6เดือนดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงราว 65,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของ GPP จังหวัดภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้แล้ว แต่โควิด-19 ยังคงระบาดหนักในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป อีกทั้งสนามบินภูเก็ตยังถูกสั่งปิด ดังนั้น การประเมินมูลค่าความเสียหายเท่าไรนั้น ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะต้องรอดูปัจจัยต่าง ๆ และสถานการณ์รอบโลกอีกครั้ง

“แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยทางสุขภาพพี่น้องประชาชน ในช่วงเวลาแบบนี้ นโยบายทางสาธารณะต้องมีน้ำหนักมากกว่านโยบายทางเศรษฐกิจ และต่อให้เราผ่านพ้นช่วงนี้ไปนโยบายการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องคำนึงและนำบทบาทของนโยบายทางสาธารณสุข เราต้องช่วยกันให้ผู้คนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างจริงจัง เพราะนี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่และบุคลาการทางแพทย์เท่านั้น แต่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือเพื่อหยุดเชืื้อโรคโควิด-19 ซึ่งเราพิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า บุคคลากรทางการแพทย์ ทีมไทยแลนด์และเราชาวไทยทุกคน ทำสำเร็จมาแล้ว” ดร.ชยานนท์ กล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่