ประกาศในเรื่องนี้ ออกมาหลังจากการประชุมของคณะกรรมการพัฒนาระบบการแพทย์การสาธารณสุขเครือข่ายจังหวัดภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลฉลอง และรพ. สต. ทั้ง 21 แห่ง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และมีข้อสรุปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนชาวภูเก็ต ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เน้นะให้ประชาชนได้รับการรักษาแบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ
ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนเขตถลางจะต้องเข้ารับการรักษาที่รพ.สต.ถลาง หรือ โรงพยาบาลถลางก่อน ถ้ารักษาไม่ได้จึงจะส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
จากสภาพปัญหาที่ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตต้องประสบในปัจจุบันคือ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ทำให้กระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ด้วยโรคที่ความยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากวชิระภูเก็ตเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูงที่จะต้องให้บริการโรคที่มีความรุนแรงยุ่งยากซับซ้อน ต้องการความเชี่ยวชาญสูงและเฉพาะทาง เช่น การผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดส่องกล้อง และอื่นๆ
แต่ในปัจจุบันทางโรงพยาบาลต้องรับภาระในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ซับซ้อน เช่น โรคหวัด ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดหัว เบาหวาน และ ความดัน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวันจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้มีจำนวนมากจนล้น ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ หากรักษาไม่หายหรือมีอาการแทรกซ้อนสามารถเข้ารับการรักษาต่อที่ รพ.ถลาง รพ.ป่าตอง และ รพ.ฉลอง และหาก รพ.พิจารณาเห็นว่าเกินศักยภาพจะมีระบบการส่งต่อมายังวชิระภูเก็ตทันที ซึ่งหากปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเข้ารับบริการ
เพื่อเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ลดการรอคิว ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แพทย์จะได้มีเวลารักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น และจำนวนเตียงจะมีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก
รพ.วชิระภูเก็ต มีเพียง 551 เตียง แต่ปัจจุบันต้องเสริมเตียงผ้าใบอีกนับร้อยเตียง โดยในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลมากขึ้นถึง 700 ราย เมื่อมีผู้ป่วยที่อาการหนักเข้ามาบางครั้งต้องปฏิเสธ หรือส่งต่อไปยังรพ.สุราษฎร์ธานี หรือ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช หรือ รพ.มอ.
ซึ่งหากทางโรงพยาบาลสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ซับซ้อนลงได้ก็จะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ให้บริการผู้ป่วยที่มีโรคมีเรื่องยุ่งยากและซับซ้อนได้ ไม่ต้องส่งต่อออกนอกจังหวัด
ส่วนในเรื่องของการบริการและเรื่องของยาต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาในทุกสถานพยาบาลจะให้บริการและยาในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของโรงพยาบาลให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน