มหกรรมศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2025 ภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งที่ 4

วันที่ 14 มกราคม 2567 ณ ปลายแหลมสะพานหิน จังหวัดภูเก็ตร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต สมาคมศิลป์ภูเก็จ สมาคม TIEFA จัดงานแถลงข่าวการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ’Thailand Biennale Phuket 2025’ มหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey) โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผวจ. ภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมกับ นายเรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ต, นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมศิลป์ภูเก็จ และนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 27 มกราคม 2567, เวลา 09:00 น.

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผวจ.ภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้แจ้งผลการคัดเลือกเมืองเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale 2025” ครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ มีมติเห็นชอบให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในปี 2025 ระยะเวลา 5 เดือน ต่อจากจังหวัดเชียงราย ในนามเจ้าภาพหลังจากการได้รับการพิจารณา ทางจังหวัดได้เตรียมนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลักในการเตรียมการรองรับการจัดงาน โดยจะแบ่งพื้นที่เป็น 4 พื้นที่หลัก กระจายออกเป็นพื้นที่ย่อย 61 พื้นที่ ในอำเภอเมือง 22 พื้นที่ อำเภอถลาง 9 พื้นที่ อำเภอกะทู้ 5 พื้นที่ และพื้นที่บ้านศิลปิน 25 แห่ง

สำหรับงาน “ไทยแลนด์เบียนนาเล่” นั้น เกิดขึ้นจากการที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรภาครัฐที่มีภารกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติในรูปแบบการแสดงศิลปะสองปีครั้ง โดยใช้คำศัพท์ภาษาอิตาลีว่า ‘เบียนนาเล่’ ภายใต้ชื่อ “ไทยแลนด์เบียนนาเล่”

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ไทยแลนด์เบียนนาเล่แตกต่างจากมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติอื่น ๆ ทั่วโลก ได้แก่ การเปลี่ยนจังหวัดที่จัดแสดงนิทรรศการในทุกครั้ง โดยสามจังหวัดแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดไทยแลนด์เบียนนาเล่เป็นจังหวัดนำร่องที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ “เมืองศิลปะ” ของกระทรวงวัฒนธรรม คือ จังหวัดกระบี่ (พ.ศ. 2561) จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2564) และล่าสุด คือ เชียงราย (พ.ศ. 2566) โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มุ่งหมายให้การจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทย เสริมสร้างแรงบันดาลใจ และความสามารถในการสร้างสรรค์ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ ยังนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปะและวัฒนธรรม


นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมศิลป์ภูเก็จ กล่าวถึงรูปแบบการจัดงาน Thailand Biennale Phuket 2025 ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์แห่งการเดินทาง (The Never Ending Journey)” ว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้แบ่งการจัดแสดง 4 รูปแบบในทั้ง 3 อำเภอ โดยมีรายละเอียดคือ
1. การจัดนิทรรศการของศิลปินไทย จากทั้ง 4 ภาค ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และศิลปินจากกลุ่มอันดามัน 2. การจัดแสดงนิทรรศการของศิลปินจากต่างประเทศที่สนใจจะมาเปิดพาวิลเลี่ยนในการแสดงนิทรรศการในฐานะตัวแทนของประเทศนั้นๆ โดยจะประสานงานผ่านกงสุลของแต่ละประเทศที่อยู่ในภูเก็ต 3. Art Festival Event การจัดนิทรรศการหลักและพื้นที่ในทุกรูปแบบ ทั้งศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ ประติมากรรมถารหรือไม่ถาวร หรือจัดแสดงผลงานในพื้นที่หอศิลป์ หรือภายในอาคารต่างๆ เป็นนิทรรศการศิลปะมีชีวิตและทำให้เกิดการเข้าถึงศิลปะในรูปแบบ Local Touch ได้ชัดเจนและมีเสน่ห์มากขึ้น และ 4. Public Art Landmarks ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ โรงแรม จะเข้ามามีส่วนในฐานะผู้ลงทุน ในการสร้างผลงานศิลปะแบบถาวร ของศิลปินรุ่นใหม่ จัดวางตามมุมเมืองต่างๆ ของภูเก็ต โดยจะมีโครงการให้ศิลปินหรือเยาวชนผู้สนใจวาดแบบชิ้นงานประติมากรรมที่สะท้อนแนวคิดทางธรรมชาติและให้ทางกลุ่มเอกชนหรือภาคโรงแรมมีส่วนร่วมสนับสนุนในการสร้างประติมากรรมเพื่อวางในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต อันเป็นเครื่องหมายแสดงความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพจัดงานที่จะเกิดขึ้น


ในส่วนของภาคเอกชน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงผลประโยชน์ของภูเก็ตที่จะได้รับจากการจัดงานนี้ ในช่วงก่อนงานและระหว่างการจัดงาน 5 เดือน คาดว่าจะมีการจ้างงานกว่า 15,000 คน รวมถึงคาดการณ์นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงดังกล่าวกว่า 5 ล้านคน สามารถสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจเกิดจากค่าที่พัก ค่าเดินทาง อาหาร ช้อปปิ้ง รักษาพยาบาล สปา ฯลฯ กว่า 40,000 ล้านบาท


นางอัญชลี ุนายกสมาคมศิลป์ภูเก็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอบระยะเวลาในการทำงานตั้งแต่นี้ไปจะเริ่มดำเนินงาน และจะมีการเปิดงานในเดือนสิงหาคม 2568 เป็นงาน Welcome opening และกำหนดพิธีเปิด Grand opening ประมาณเดือนธันวาคม 2568
การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Thailand Biennale 2025” ครั้งที่ 4 นี้ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวภูเก็ตต้องร่วมมือกัน โดยใช้ความเข้มแข็ง การสร้างสรรค์ การนำเอา Soft Power ที่มีพลังในความเป็นไทย และความเป็นภูเก็ต ส่งผ่านต่อด้วยงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งถือเป็นการเชื่อมภูเก็ตเชื่อมไทยและ เชื่อมโลกได้อย่างงดงาม

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่