ภัยร้ายจาก ครีมกันแดด นักวิจัยเร่งสร้างความตระหนัก อีกสาเหตุปะการังภูเก็ตต้องตาย

ภูเก็ต - นายธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) พร้อมด้วย นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผอ. สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ภูเก็ต) หรือ สบทช.9 ได้นำเสนอปัญหาผลกระทบของสารเคมีที่เป็นอันตรายในครีมกันแดด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังในทะเลภูเก็ต ต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ณ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ธัญลักษณ์ สากูต

วันอาทิตย์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562, เวลา 12:00 น.

ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ในโอกาส ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประวิตร เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อรองนายกรัฐมตรี นายธนู ได้อธิบายถึงอันตรายจากสารเคมีในครีมกันแดดกับ The Phuket News ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ และกำลังคร่าชีวิตแนวปะการังรอบเกาะภูเก็ต

“ครีมกันแดดไม่ใช่ปัจจัยหลักสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อปะการังรอบ ๆ เกาะภูเก็ต ซึ่งมีอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างอื่น เช่น คณะทัวร์เรียนดำน้ำหลักสูตรเร่งรัด ‘try dive’ การดำน้ำตื้น ‘snorkelling’ การดำน้ำลึก ‘scuba diving’ การประมงเชิงพาณิชย์ น้ำเน่าเสีย และอื่น ๆ” นายธนู กล่าว

“แนวปะการังของจังหวัดภูเก็ตนั้นต้องการการปกป้องมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ แม้ว่าครีมกันแดดจะไม่ใช่ตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อปะการัง แต่มันจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้เกิดขึ้น ณ ที่ประชุมครั้งนี้” เขากล่าวเสริม

ดร.นลินี ทองแถม นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) หรือ PMBC อธิบายว่า องค์ประกอบสารเคมีของครีมกันแดดไม่เพียงพอที่จะทำให้ปะกะรังตาย แต่สารเคมีจะไปรบกวนสุขภาพของปะการัง โดยทำให้ปะการังอ่อนแอต่อการฟื้นตัวจากผลกระทบต่าง ๆ รวมถึงปรากฏการณ์ปะการังเกิดฟอกขาวเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่ร้อนขึ้น

แต่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัด ผลกระทบสามารถอาจแสดงออกได้ชัดเจนมากยิ่งกว่า โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รองอธิบดีกรมอุทยานประกาศปิดอ่าวมาหยาและอ่าวโละซามะไม่มีกำหนด เนื่องจากต้องการฟื้นฟูปะการัง พิจารณาเปิดแหล่งท่องเที่ยว อ่าวมาหยา 2 ไว้ 3 แห่ง ณ ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี

นายจงคล้าย วนพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วย ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าวการปิดอ่าวมาหยาและอ่าวโละซามะ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพีไม่มีกำหนด โดยมีผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกระบี่ร่วมรับฟัง โดยระบุว่า ทางกรมมีนโยบายการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นอันดับหนึ่ง การท่องเที่ยวมาเป็นอันดับสอง

ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนกันยายน 2561 การฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่อ่าวมาหยาโดยเฉพาะปะการังและทรัพยากรชายหาดมีความก้าวหน้าไประดับหนึ่ง จึงเห็นควรฟื้นฟูอ่าวทั้ง 2 อีกต่อไป จนกว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ พร้อมทั้งได้ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดและระบบนิเวศปะการังบริเวณอ่าวมาหยาและการปลูกฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมในพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยา ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่

นายจงคล้าย กล่าวว่า ในช่วงที่ปิดอ่าวพบว่าปะการังมีเพิ่มมากขึ้น และระบบนิเวศมีการฟื้นตัว ปัญหาก่อนการปิดอ่าวที่พบได้คือหาดทรายบริเวณหน้าหาดของอ่าวมาหยาไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากตลอดปี และการถูกคลื่นซัด ทำให้ชายหาด ทรุดตัว นอกจากนี้มีสารเคมีบางชนิด เช่น ครีมกันแดด ที่นักท่องเที่ยวใช้ทาตัวแล้วลงเล่นน้ำและกระจาย ก็เป็นอีกสาเหตุที่เกิดปะการังฟอกขาว

จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.นลินีที่ว่า “สารออกซีเบนโซน (oxybenzone) ในครีมกันแดดเป็นสารเคมีที่น่าเป็นห่วงที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบกับปะการังในภูเก็ต”

“ถึงแม้ว่าเรายังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดในรายงานเชิงวิชาการว่าสารออกซีเบนโซนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง แต่การทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยนักวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารเคมีสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้จริง” เธอกล่าวเสริม

“การลดปริมาณการใช้สารเคมีจากครีมกันแดดที่ปนเปื้อนในน้ำ อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อปะการังได้ทั้งหมด แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปะการังป่วยได้อย่างง่ายดาย เพราะมันคือหนึ่งปัจจัยนี้เป็นตัวแปรที่ควรหลีกเลี่ยง ขณะทำการฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับมามีสุขภาพดี” ดร.นลินี กล่าว

ดร.นลินี ชี้ให้เห็นว่าแนวปะการังในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งไม่รวมถึงแนวปะการังที่กระจายอยู่ทั่วอ่าวพังงา หรือจังหวัดกระบี่ที่เป็นพื้นที่จังหวัดเพื่อนบ้านใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ถึง 13,932 ไร่ หรือประมาณ 22.3 ตารางกิโลเมตร

“แนวปะการังภูเก็ตพบได้ในบริเวณใกล้หาดป่าตอง, หาดกะตะ, หาดกะรน, หาดในยาง เกาะราชา และเกาะเฮ” ดร.นลินี กล่าว “อย่างไรก็ตาม กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังในบริเวณนี้ประมาณ 80-90% ซึ่งอยู่ในระดับความเสียหายที่เราเรียกว่า “ระดับกลาง” ถึง “เสียหายมาก” ทั้งนี้แนวปะการังบางส่วนของจังหวัดภูเก็ตสามารถฟื้นตัวได้ดี แต่มันจะดีกว่านี้ ถ้าหากกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่ได้รับการจัดการและควบคุมที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

ดร.นลินี อธิบายว่า สบทช. หรือ DMCR ให้การสนับสนุนข้อเสนอแนะจากโครงการกรีนฟินส์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในการให้คำแนะนำและสนับสนุนแก่ผู้คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการทัวร์ ให้ได้ตระหนัก และปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อดำเนินการตามแนวทางการอนุรักษ์ปะการัง”

“กรีนฟินส์ เรียกร้องให้ทุกคนลดการใช้ครีมกันแดด โดยวิธีการง่าย ๆ เช่น การสวมเสื้อแขนยาว ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องผิวจากแสงอาทิตย์” ดร.นลินี กล่าว

เว็บไซต์กรีนฟินส์ประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า นักวิจัยได้ประมาณการว่าในทุกปีมีครีมกันแดดมากถึง 14,000 ตัน ที่นักท่องเที่ยวใช้ถูกชะล้างลงสู่แนวปะการังในทะเล นอกจากนี้ยังมีครีมและเครื่องสำอางเป็นจำนวนมากปนเปื้อนออกมากับท่อระบายน้ำหลังจากเราชำระล้างร่างกาย คาดกันว่าอาจมีปะการังมากถึง 1 ใน10 ของโลกที่กำลังถูกคุกคามด้วยสารเคมีเหล่านี้ เพราะแนวปะการังส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำคัญที่มีกิจกรรมของมนุษย์

พร้อมทั้งบอกเล่าถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อต้องซื้อครีมกันแดด และวิธีการเลือกครีมกันแดดที่ไม่ฆ่าปะการัง สารเคมี 4 ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาว คือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparabenตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก

ซึ่งในปัจจุบันการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัด และยังไม่มีกฎหมายตัวไหนที่ห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว ทางกรีนฟินส์จึงมีข้อแนะนำให้เลือกครีมกันแดดที่ปลอดภัยต่อแนวปะการัง โดยพิจารณาจากส่วนผสมในฉลากของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ oxybenzone และสารเคมีอื่น ๆ ข้างต้น, ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า, ใช้ครีมกันแดดที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าสารต่าง ๆ จะไม่เกิดการตกค้างและย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ในธรรมชาติ และใช้ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป

นอกจากนี้ กรีนฟินส์ยังระบุอีกว่า “ในครีมกันแดดประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด ที่สามารถทำร้ายปะการังให้ถึงตายได้ และยังสร้างความเสียหายต่อลูกปลาได้อีกด้วย”

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาลนั้น พล.อ.ประวิตร ได้รับทราบและเปิดไฟเขียวให้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ และได้ฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างกระแสให้เกิดความร่วมมือกันในเรื่องนี้ด้วย

พร้อมกันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการกำหนดทิศทางนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2560 – 2564 ที่มีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 อนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างสมดุลและเป็นธรรม, ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน, ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเน้นการมีส่วนร่วมและทันต่อการเปลี่ยนแปลง และยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาความร่วมมือบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันจากความร่วมมือระหว่างประเทศ

ซึ่งนโยบายและแผนฯ ดังกล่าว มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแผนพัฒนาในด้านอื่น ๆ ของชาติ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบตามที่ ทช.มีนโยบายการจัดโครงการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมที่เลิกใช้งานแล้ว การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามมาตรา 20 และ 22 การกำหนดพื้นที่ที่จะใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งตามมาตรา 21 โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ และการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2562 นี้อีกด้วย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่