นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสเปิร์มที่เก่าแก่ที่สุดของโลกในก้อนอำพันเมียนมา

วิทยาศาสตร์ - ทีมนักบรรพชีวินวิทยา หรือกลุ่มผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือซากฟอสซิล ได้ค้นพบสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นสเปิร์มสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ภายในสัตว์น้ำเปลือกแข็งตัวจิ๋วในประเทศเมียนมา

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 26 กันยายน 2563, เวลา 15:29 น.

พบอสุจิในตัวออสตราคอด สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งขนาดเล็ก ซึ่งดำรงเผ่าพันธุ์มานานกว่า 500 ล้านปี และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบเจอได้ในมหาสมุทรหลายแห่ง ภาพ: AFP

พบอสุจิในตัวออสตราคอด สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งขนาดเล็ก ซึ่งดำรงเผ่าพันธุ์มานานกว่า 500 ล้านปี และในปัจจุบันก็ยังสามารถพบเจอได้ในมหาสมุทรหลายแห่ง ภาพ: AFP

ตัวอย่างฟอสซิลสเปิร์มสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก่อนหน้านี้มีอายุเพียง 17 ล้านปี ตามที่ทีมผู้เชี่ยวชาญนำโดย หวัง ฮี จาก สถาบันวิทยาศาสตร์จีน ในเมืองหนานจิง

การค้นพบอสุจิในตัวออสตราคอด สัตว์น้ำเปลือกแข็งที่ดำรงเผ่าพันธุ์มานานกว่า 500 ล้านปี และยังสามารถพบได้ในหลาย ๆ มหาสมุทรในปัจจุบัน ได้รับการกล่าวถึงในบทความที่ถูกตีพิมพ์เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ในวารสารการวิจัยของรอยัล โซไซตี้ (Royal Society) สำนักข่าว เอเอฟพี รายงาน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สเปิร์มถูกพบในตัวของตัวอย่างวิจัยเพศเมีย ซึ่งบ่งชี้ว่ามันต้องได้รับการปฏิสนธิไม่นานก่อนที่จะถูกขังอยู่ในก้อนอำพัน

อสุจิแต่ละตัวได้รับการพรรณนาด้วยคำว่า “ยักษ์” เนื่องจากมีขนาดใหญ่ถึง 4.6 เท่าของขนาดร่างกายของตัวผู้

“สิ่งนี้เทียบเท่ากับขนาดประมาณ 7.30 เมตร (24 ฟุต) หรือเทียบกับมนุษย์ที่มีความสูง 170 เซนติเมตร ดังนั้นจึงต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการผลิต” ผู้ร่วมวิจัย เรเนท มัทซ์เกอ-การาซ (Renate Matzke-Karasz) จากมหาวิทยาลัย Ludwig Maximilian เมืองมิวนิค กล่าวกับ เอเอฟพี

ตัวออสตราคอดที่ค้นพบยังถือได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่อีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้พวกมันว่า “Myanmarcypris hui”

“ยูเรก้า โมเมนต์” ช่วงเวลาสำคัญแห่งการค้นพบ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการค้นพบฟอสซิลเปลือกแข็ง ๆ ของตัวออสตราคอดเป็นเรื่องปกติ แต่การหาตัวอย่างที่มี “ส่วนอ่อน” ด้วยนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก

ในช่วงยุคครีเทเชียสประมาณ 145 ถึง 66 ล้านปีก่อน ตัวออสตราคอดที่ถูกนำมาวิจัยอาจอาศัยอยู่ในน่านน้ำชายฝั่งของพม่าในปัจจุบัน ซึ่งพวกมันถูกขังอยู่ในก้อนอำพันจากยางของต้นไม้

ตัวอย่างวิจัยชิ้นนี้ถูกส่งมอบให้กับนักวิจัยโดยนักสะสมชาวจีนในปี 2017

สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนี้มีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร แต่นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นใหม่เป็นรูป 3 มิติ เพื่อสังเกตการณ์ดูพวกมันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่นายหวังได้อธิบายว่าเป็น “หนึ่งในยูเรก้าโมเมนต์ (หรือช่วงเวลาสำคัญแห่งการค้นพบ) ในชีวิตของนักวิจัย”

เช่นเดียวกับตัวอสุจิ การสร้างใหม่ยังแสดงให้เห็นถึงการสูบฉีดสเปิร์มตัวที่มีกล้ามเนื้อโดดเด่นและมีอวัยวะเพศชาย (ตัวละสองอัน) ที่ออสตราคอดตัวผู้ใช้ผสมเทียมกับบรรดาตัวเมีย

“ตัวอย่างวิจัยนี้ช่วยให้เรายืนยันสมมติฐานของเราว่า เซลล์อสุจิขนาดยักษ์ดังกล่าวมีอยู่เมื่อ 100 ล้านปีก่อน” มัทซ์เกอ-การาซ กล่าว

จนถึงปัจจุบันนี้ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานมาจากการค้นพบอวัยวะสืบพันธุ์ขนาดใหญ่ ในบรรดาสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งเมื่อในปี 2009 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของอสุจิที่มีขนาดใหญ่อย่างสอดคล้องกัน

สิ่งมีชีวิตเพศชายส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งมนุษย์สร้างเซลล์อสุจิขนาดเล็กหลายสิบล้านเซลล์ แต่ตัวออสตราคอดนั้นแตกต่างออกไป สำหรับพวกมันแล้วจะเน้นไปที่ “คุณภาพมากกว่าปริมาณ”

มีหลายทฤษฎีที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับคุณค่าทางวิวัฒนาการของอสุจิยักษ์ดังกล่าว

“ตัวอย่างเช่น การทดลองแสดงให้เห็นว่าในกลุ่มหนึ่ง การแข่งขันระหว่างเพศชายที่มีการแข่งขันระดับสูง สามารถทำให้อสุจิมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง เพศชายที่มีการแข่งขันในระดับต่ำ ก็นำไปสู่ชีวิตของอสุจิที่ยืนยาวขึ้นด้วยเหมือนกัน” มัทซ์เกอ-การาซ กล่าว

การวิวัฒนาการร่วม

นักวิจัยเชื่อว่าสเปิร์มยักษ์เป็นสัญญาณของสุขภาพที่ดีในส่วนของเพศชายซึ่งเป็นลักษณะที่ “เป็นที่ชื่นชอบ” ของเพศหญิง ซึ่งมีการพัฒนาอวัยวะเพศเพื่อรองรับพวกมันเป็นตัวอย่างของ “การวิวัฒนาการร่วม”

มัทซ์เกอ-การาซ ยังกล่าวอีกว่า “สิ่งนี้ทำให้ออสตราคอดจำนวนมากสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยเซลล์อสุจิขนาดยักษ์ ต้องมีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนมากกว่าการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ”

“เพื่อแสดงให้เห็นว่าการใช้สเปิร์มขนาดยักษ์ในการสืบพันธุ์ ไม่ใช่ความสิ้นเปลืองของวิวัฒนาการที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่เป็นข้อได้เปรียบในระยะยาวสำหรับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเราจำเป็นต้องรู้ว่าพวกมันถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด”

นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยก้อนอำพันของพม่ามานานหลายสิบปี โดยได้มีการค้นพบสมบัติแช่แข็งทุกชนิด รวมทั้งพวก กบ งู และหางของไดโนเสาร์ที่มีขนอีกด้วย

ธิชา/ข่าวภูเก็ต: แปล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่