นอนกรน vs ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อย่าคิดว่า “นอนกรน” เป็นเรื่องปกติ อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อันตรายถึงชีวิต

โพสต์ทูเดย์

วันพุธ ที่ 16 ธันวาคม 2563, เวลา 15:00 น.

นอนกรน vs ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาพ โพสต์ทูเดย์

นอนกรน vs ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาพ โพสต์ทูเดย์

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คนเราควรนอนหลับให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากการตื่นมาพร้อมกับความสดชื่น สามารถปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย แต่ในระหว่างที่เรานอนหลับนั้น อาจเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น โดยที่เจ้าตัวเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่น การนอนกรน หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดูเผินๆ เหมือนจะไม่น่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีอันตรายถึงชีวิตได้

มีข้อมูลที่น่าสนใจโดย นายแพทย์ ณัฎฐพงศ์ อื้อเศรษฐศักดิ์ อายุรแพทย์ ประจำโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ เปิดเผยเกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาให้ได้ลองสังเกตกัน

นอนกรน อันตรายจริงไหม?

เป็นความจริง เพราะอาการนอนกรน บ่งบอกถึงการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่นเป็นช่วง ๆ ง่วงนอนในเวลากลางวัน มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุจราจรหรือจากการทำงานมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า มีความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย

เด็กนอนกรนสังเกตอย่างไร?

ในเด็กอาจมีอาการนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีท่าทางการนอนที่ผิดปกติ เช่น ชอบนอนคว่ำ นอนตะแคง หรือเด็กที่ไม่มีสมาธิที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน หรืออาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder : ADD) เด็กที่หงุดหงิดง่าย และปัสสาวะราดในเวลากลางคืน พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่

ลดอาการกรนด้วยวิธีแปะปาก แปะคาง (ไม่ให้อ้า) ช่วยได้จริงไหม?

วิธีดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถช่วยแก้อาการนอนกรนได้ ในทางการแพทย์วิธีที่สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ คือ การใช้เครื่องมือทางทันตกรรมช่วยเลื่อนขากรรไกรลงมาทางด้านหน้า เพื่อทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือ การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP)

ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยเป็นการนำหน้ากากครอบจมูก ขณะนอนหลับ หน้ากากจะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมแรงดันบวกออกมาขยายทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น

รับประทานอาหารและเครื่องดื่มอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงการนอนกรน?

หลีกเลี่ยงยา หรือ เครื่องดื่ม ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยาลดน้ำมูกชนิดที่ทำให้ง่วง

รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน หากปล่อยไว้ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตตนเองหรือให้คนใกล้ชิดช่วยสังเกต ว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นกับเราหรือไม่ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ มีอาการหายใจขัด หายใจไม่สะดวก คล้ายสำลักน้ำลาย มีอาการสะดุ้งผวา หรือหายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ นอนกรน นอนกระสับกระส่ายมาก

การตรวจ Sleep Test

สำหรับผู้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ โดยทางการแพทย์จะใช้เครื่องมือ Sleep Test ในการตรวจ เหมาะสำหรับ ผู้ที่มีอาการนอนกรน และ ผู้ที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่ ตื่นนอนตอนเช้าด้วยความอ่อนล้า ไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม ทั้ง ๆ ที่ได้นอนพักอย่างเต็มที่หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย ง่วงนอนตอนกลางวัน เผลอหลับกลางวัน นอนหลับไม่ราบรื่น เช่น ฝันร้าย ละเมอ กระสับกระส่าย หายใจขัด หายใจไม่สะดวก ขณะนอนหลับ มีอาการสะดุ้งผวา หายใจแรงเหมือนขาดอากาศหลังจากหยุดหายใจ ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือผลการเรียนแย่ลง เพราะอาการง่วง ขาดสมาธิ

อ่านโพสต์ทูเดย์ คลิก

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่