ชุมชนบ้านกะตะยื่นหนังสือขอให้จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุดินสไลด์ พราก 13 ชีวิต

ภูเก็ต - ชาวบ้านชุมชนบ้านกะตะ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ยื่นหนังสือต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เหตุการณ์ดินถล่ม ณ วัดกะตะ ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ดินสไลด์ มีผู้เสียชีวิต 13 ศพ พร้อมเสนอมาตรการเตือนภัยป้องกันเหตุที่จะเกิดซ้ำขึ้นอีก

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 27 สิงหาคม 2567, เวลา 12:50 น.

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 ส.ค. 67 นายฉลอง ลอยสมุทร ตัวแทนประชาชนชุมชนบ้านกะตะ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดินโคลนถล่มจากเทือกเขานาคเกิด เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13 ราย ได้ยื่นหนังสือให้กับ นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดภูเก็ต เขต 2 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และขอให้หามาตรการเตือนภัยป้องกันเหตุที่จะเกิดซ้ำขึ้นอีก โดยมีนายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองภูเก็ต, นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมรับทราบปัญหาด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รายงาน

นายฉลอง กล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือให้กับทาง สส. และจังหวัดภูเก็ตนั้น นอกจากจะขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กัประชาชน ยังมีเอกสารประกอบซึ่งเป็นหนังสือที่ตนเคยยื่นให้กับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต เมื่อประมาณปี 2563 พร้อมภาพดินสไลด์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก โดยต้องการให้ตรวจสอบการใช้พื้นที่ของเทือกเขานาคเกิดว่า ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

“และสิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ชาวบ้านที่ยังคงตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาดังกล่าวและเป็นจุดเสี่ยงภัย จะอยู่อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดการถล่มลงมาอีกเมื่อไร จึงร้องขอให้มีการติดตั้งระบบเตือนภัย เพราะยังอยู่ในช่วงฤดูฝนยาวไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา” นายฉลอง กล่าว

ขณะที่ นายศรัทธา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ทางท่านผู้ว่าฯ ได้ทำหนังสือส่งไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ตรวจสอบในเรื่องที่ประชาชนเป็นกังวล ว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างต่าง ๆ บนเทือกเขานาคเกิด ว่า มีการดำเนินการถูกต้องหรือไม่อย่างไร รวมทั้งได้มีการวางแนวทางในการป้องกันเหตุที่จะเกิดซ้ำขึ้นอีก แต่เบื้องต้นจะต้องเร่งฟื้นฟูและทำการขุดตักดินโคลนและก้อนหินออกจากบ้านเรือนของประชาชน เพื่อให้เขาเข้าไปอยู่อาศัยได้ รวมถึงบนถนนหนทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสัญจรไปมาได้

BAAN KRU JAY INTERNATIONAL KINDERGARTEN

ทางด้าน นายเฉลิมพงศ์ กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้ายื่นหนังสือพร้อมทั้งแสดงความกังวล กรณีหากเกิดดินโคลนถล่มซ้ำ เนื่องจากมองว่าเหตุการณ์ดินถล่มครั้งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คน ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจที่เติบโตในพื้นที่ ซึ่งจุดที่ถือว่าหนักนอกจากซอย ปฏัก 8 และปฏัก 2 คาดว่าน่าจะเป็นในส่วนของซอยปฏัก 14

"หลังจากนี้จะทำหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการทำลายป่าต้นน้ำที่อยู่บนยอดเขานาคเกิด สอบถามกระทรวงวัฒนธรรม ประเด็นการจัดตั้งมูลนิธิที่มีการดำเนินการเชิงพุทธพาณิชย์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการติดตั้งระบบเตือนภัย เพื่อลดความหวาดระแวงในช่วงที่ฝนตกหนัก ซึ่งจะเร่งรัดการดำเนินการให้ได้โดยเร็ว นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ บริเวณโดยรอบเทือกเขานาคเกิดที่มีการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ว่า ดำเนินการถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพื่อป้องกันเหตุที่จะบานปลายออกไปอีก" นายเฉลิมพงศ์ กล่าว

และในส่วนสถานที่พักอาศัยของผู้ประสบภัย ใช้ชีวิตในอาคารโดยมีการนอนรวม โดยมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงเด็กเล็ก มีเจ้าหน้าที่พยาบาลและหน้าที่จากภาคส่วนอื่น ๆ ดูแลตลอดทั้งวัน ขณะที่จุดรับบริจาคมีภาคเอกชนและประชาชนร่วมใจนำสิ่งของ อาทิ ที่นอน, หมอน, น้ำดื่ม, ข้าวสาร มาบริจาค สำหรับท่านใดที่ต้องการบริจาคสามารถติดต่อไปได้ที่ 098-442-0506 คุณโยชิ เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประสบภัย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่