พร้อมด้วย นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นักเรียน และพุทธศาสนิกชนชาวภูเก็ต เข้าร่วมพิธีสงฆ์ ฟังธรรมเทศนา เพื่อนำแนวทางธรรมะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถวัดวิชิตสังฆาราม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในโอกาสวันสําคัญทางพระพุทธศาสนา "วันอาสาฬหบูชา"
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้นเพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เด็ก , เยาวชน และประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา "วันอาสาฬหบูชา" รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็ก เยาวชน ประชาชน และเพื่อจรรโลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีมีคุณธรรม โดยนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยกิจกรรมประกอบด้วย พิธีเวียนเทียน, พิธีเจริญพระพุทธมนต์, เจริญจิตตภาวนาถวายพระพรชัยแด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 , การแสดงธรรมเทศนา , การตักบาตรพระสงฆ์และการถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์
โอกาสนี้พระครูประคุณสุตกิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดวิชิตสังฆาราม แสดงธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชามีใจความตอนหนึ่ง ว่า "วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ จึงทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น"วันพระรัตนตรัย"อีกด้วย
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก และได้ทรงแสดงเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชานี้ หลักธรรมสำคัญในพระสูตรบทนี้จึงเป็นธรรมะสำคัญที่พุทธศาสนิกชนควรนำไปพิจารณาและทำความเข้าใจ และอาจจะเรียกได้ว่าหลักธรรมในพระสูตรดังกล่าวเป็นหลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชาซึ่งเนื้อหาในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มี 3 ตอน ดังนี้ ส่วนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ กามสุขัลลิกานุโยคและ อัตตกิลมถานุโยค กล่าวคือทรงแสดงสิ่งที่ไม่ควรเสพสองอย่าง อันได้แก่ การปฏิบัติตนย่อหย่อนสบายกายเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติตนจนทรมานกายเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค)
การที่พระพุทธองค์ตรัสปฏิเสธแนวทางสองอย่างดังกล่าวมาในขณะเริ่มปฐมเทศนา เพื่อแสดงให้รู้ว่า พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้พ้นจากทุกข์ด้วยการแก้ปัญหานอกกายคือ หนีความทุกข์ด้วยการมัวแต่แสวงหาความสุข (หนีความทุกข์อย่างไม่ยั่งยืน เพราะต้องแสวงหามาปรนเปรอตัณหาไม่สิ้นสุด) หรือหาทางพ้นทุกข์ด้วยการกระทำตนให้ลำบาก (สู้หรืออยู่กับความทุกข์อย่างโง่เขลา ขาดปัญญา ทำตนให้ลำบากโดยใช่เหตุ) เพื่อที่จะทรงขับเน้นหลักการที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงต่อไปว่า มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากแนวคิดพ้นทุกข์เดิม ๆ ซึ่ง เป็นการประกาศแนวทางพ้นทุกข์ใหม่แก่โลก อันได้แก่การแก้ทุกข์ที่ตัวต้นเหตุ คือ แก้ที่ภายในใจของเราเอง คือ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ของพระพุทธองค์
- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต