ครบ 2 ปีน้องพะยูนมาเรียม รมว.ทส.ตั้งเป้าไทยมีพะยูน 280 ตัวภายในปีหน้า

ตรัง - วันนี้ (16 ส.ค.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ในโอกาสครบรอบ 2 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำเป้าชัดเพิ่มพะยูนคุ้มครองทะเลตรัง หลังเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อน ที่เป็นกระแสข่าวดังในการเสียชีวิตของน้องมาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจคนไทยและชาวต่างชาติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 ได้ปลุกกระแสการอนุรักษ์ทะเลและสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันจันทร์ ที่ 16 สิงหาคม 2564, เวลา 13:17 น.

พะยูนน้อยมาเรียมตายเพราะขยะพลาสติก ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

พะยูนน้อยมาเรียมตายเพราะขยะพลาสติก ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า “ในโอกาสครบรอบ 2 ปี (17 สิงหาคม 2564) ที่เราได้สูญเสียน้องมาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย บทเรียนราคาแพงจากการสูญเสียครั้งนั้น ทำให้ตนได้เกิดแนวคิดในการอนุรักษ์และดูแลสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายากอย่างเป็นระบบ ภายใต้ “มาเรียมโปรเจค” เพื่อสะท้อนความสำคัญและปัญหาด้านการจัดการสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายาก”

อย่างไรก็ตาม นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งกำหนดแนวทางและมาตรการกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เสนอแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติแล้ว พร้อมได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับและขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยต้องมีพะยูนไม่น้อยกว่า 280 ตัว ในปี 2565

ซึ่งในปัจจุบันได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติกว่า 7 โครงการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวิชาการ การกำหนดมาตรการจัดการเครื่องมือประมง การพัฒนาองค์ความรู้และประชาสัมพันธ์ การทำแผนระดับพื้นที่ และการเพิ่มกำลังในการลาดตระเวน และอีกบทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากการตายของน้องมาเรียม คือ ปัญหาขยะทะเล ซึ่งเรื่องนี้ ตนได้ย้ำถึงปัญหาและผลกระทบมาโดยตลอด รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศแผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ซึ่งตนได้มอบให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งขับเคลื่อนในการจัดการขยะทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางก่อนลงสู่ทะเล

“ขยะพลาสติกไม่ได้พบแค่ในท้องของสัตว์ทะเล เรายังพบในท้องถนน ท้องน้ำ ท้องทะเล และสุดท้ายก็จะพบได้ในท้องของเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องช่วยกันลดและเลิกใช้พลาสติกอย่างจริงจัง ร่วมมือกันจัดการขยะอย่างเป็นระบบจนเป็นนิสัย เราไม่อยากให้มีเศษพลาสติกในท้องเรา สัตว์ทะเลก็เช่นกัน เราต้องช่วยกันตั้งแต่ตอนนี้ อย่ารอพรุ่งนี้ เพราะมันอาจจะสายเกินไป” นายวราวุธ กล่าว

สำหรับแนวทางและมาตรการในการดูแลสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงการคุ้มครองพื้นที่แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหายาก นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “กรมฯ ได้เร่งรัดดำเนินงานอย่างจริงจังมาตลอด โดยข่าวดีคือตอนนี้เราพบพะยูนในธรรมชาติกว่า 261 ตัว ในปี 2564 นอกจากนี้ เพื่อการคุ้มครองและดูแลที่เข้มข้นขึ้น กรมฯ ได้เตรียมประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทาทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป” นายโสภณ กล่าว

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลกล่าวว่า มาเรียม คือ สัญลักษณ์แห่งการคุ้มครอง ปกป้องทะเลไทย

“การจากไปของเธอทำให้เราตระหนักถึงผลกระทบที่มนุษย์ทำต่อทะเล ทำให้เกิดกฎหมาย เกิดพื้นที่คุ้มครองและเกิดแรงขับเคลื่อนในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องขยะทะเลที่ไม่มีทางหมดไปหากคนไทยไม่ช่วยกัน ทุกวันนี้ สิ่งมีชีวิตที่น่าสงสารในท้องทะเลยังบาดเจ็บและตายจากผลพวงของความไม่ใส่ใจดูแลปัญหาขยะของพวกเรา แต่มาเรียมมามอบความหวังให้คนหันมาสนใจทะเลอีกครั้ง วันมาเรียมที่วนมาทุกปี จะทำให้เราพยายามมากขึ้นทุกครั้ง และขยะทุกชิ้นที่หายไปจากทะเลมีความหมายมากมายต่อเพื่อน ๆ ในน้ำของพวกเรา” ดร.ธรณ์ กล่าว

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยในเรื่องนี้ว่า จังหวัดกำหนดจัดงานสัปดาห์อนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 17 – 23 สิงหาคม โดยจะมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้พะยูน ในพื้นที่ 4 อำเภอ

พร้อมทั้งกล่าวย้ำความมั่นใจว่า ทางจังหวัดพร้อมด้วยประชาชนในจังหวัด จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันปกป้อง ดูแลพะยูนในพื้นที่จังหวัดตรังอย่างดี ซึ่งตนมั่นใจว่าพลังและความร่วมมือของพี่น้องประชาชนจังหวัดตรังจะทำให้มีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ต่อไป

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่