คนภาคใต้จี้รัฐแก้ของแพงช่วยลดภาระค่าครองชีพ

ม.หาดใหญ่ เปิดความเชื่อมั่นประชาชนภาคใต้ เดือนม.ค.65 แนะภาครัฐออกมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ขอเลิกคำสั่งห้ามเด็กอายุ 5-11 ปี เข้าห้องเรียนชี้ละเมิดสิทธิ์

โพสต์ทูเดย์

วันอังคาร ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565, เวลา 10:00 น.

คนภาคใต้จี้รัฐแก้ของแพงช่วยลดภาระค่าครองชีพ ภาพ โพสต์ทูเดย์

คนภาคใต้จี้รัฐแก้ของแพงช่วยลดภาระค่าครองชีพ ภาพ โพสต์ทูเดย์

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนมกราคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเดือนมกราคม 2565 (41.30) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 (42.20) เดือนพฤศจิกายน (41.60) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การรักษามาตรฐานค่าครองชีพ การลดลงของหนี้สิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหายาเสพติด และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

โดยปัจจัยลบจากสถานการณ์ค่าครองชีพที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดอาหาร ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ฯลฯ ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ซึ่งปัญหาข้าวของแพงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายสินค้าเท่าที่จำเป็น ลดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ลดกิจกรรมสังสรรค์ และหันไปเลือกใช้สินค้าทดแทนที่ราคาถูกลง เช่น กลุ่มเนื้อสัตว์ที่ถูกกว่า สินค้ามือสอง หรือสินค้าแบรนด์รอง เป็นต้น

แนวโน้มปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นอาจจะยังคงแพงต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ดังนั้น ในระยะสั้น ภาครัฐควรออกมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน รวมถึงช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถตรึงราคาสินค้าให้ได้มากที่สุด

อีกทั้งภาครัฐควรออกมาตรการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวภาครัฐควรเร่งแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา

และรีบเร่งในการแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามปานปลาย นอกจากนี้ภาครัฐควรรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนและสั่งการให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและทันท่วงที

รวมถึงไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซากยืดเยื้อจนเกิดความเสียหายในวงกว้างยากต่อการแก้ไขให้เสร็จสิ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นท่ามกลางความเสี่ยงที่มีมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งยังเป็นเชื้อที่ต่อต้านวัคซีน และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ ถึงแม้ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังคงมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่เริ่มพบมากขึ้นในทวีปแอฟริกา

และยังคงมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ซึ่งนักวิชาการทางด้านสาธารณสุขส่วนหนึ่งคาดว่าไวรัสอาจจะดื้อต่อวัคซีนและแพร่กระจายติดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้แก่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะ

จากค่าครองชีพที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะยังคงสูงเช่นนี้อีกหลายเดือน ส่งผลให้ประชาชนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งประชาชนมองว่า สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ผิดพลาด ล่าช้า และมักแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ทั้งนี้ ประชาชนเสนอให้ภาครัฐและข้าราชการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน “จากทำงานเชิงรับ เป็นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น” โดยมีช่องทางการเปิดรับปัญหาโดยตรงจากประชาชน รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องควรรีบสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และรายงานตรงต่อรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด

2. มีความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มจังหวัดที่เริ่มมีกิจกรรมธุรกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่กระจายไปแล้วหลายประเทศ ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจังและสร้างความตระหนักให้เข้มงวดในการดูแลป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด

3. ประชาชนส่วนหนึ่งเสนอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งให้สถานศึกษาประกาศยกเลิกคำสั่งไม่ให้เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนห้ามเข้าเรียนในห้องเรียน เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กส่วนหนึ่งมีความกังวลว่าเด็กในช่วงอายุดังกล่าว อาจจะเกิดอันตรายจากการฉีดวัคซีนได้ และไม่เห็นด้วยกับมาตรการของสถานศึกษา เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของเด็กในการเข้าถึงการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะและพัฒนาการของเด็ก โดยเสนอให้สถานศึกษาใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมและปลอดภัยกับเด็กทุกคนในการมาเรียนในชั้นเรียน

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.50 และ 34.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.80 และ 35.60 ตามลำดับส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.50 34.60 และ 32.10 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่ มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ36.90 รองลงมา คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 24.50 และ 22.80 ตามลำดับ

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ตามลำดับ

อ่านโพสต์ทูเดย์ คลิก

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่