กินเจ อิ่มบุญอิ่มใจ นิวนอร์มอลป้องกันโควิด-19 สธ.แนะนำเลือกเมนูเจเพื่อสุขภาพ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงสาธารณสุข แนะนำการเลือกเมนูเจ เพื่อสุขภาพ กินเจ อิ่มบุญอิ่มใจ แบบนิวนอร์มอล ป้องกันโควิด-19 สนับสนุนให้ประชาชน อิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัยทั้งจากอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและโรคภัย ในช่วงประเพณีถือศีลกินผัก ประจำปี 2564 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 -14 ตุลาคม 2564

ข่าวภูเก็ต

วันเสาร์ ที่ 9 ตุลาคม 2564, เวลา 12:00 น.

ภาพ thanapat

ภาพ thanapat

โดยในส่วนของจังหวัดภูเก็ตเองก็ได้มีการกำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวไว้อย่างครอบคลุมด้วยเช่นกัน ภายใต้ “มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในการจัดกิจกรรมงานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2564” กำหนดให้แต่ละศาลเจ้าจัดพิธีการเป็นการภายในโดยมีผู้เข้าร่วมพิธี เฉพาะคณะกรรมการที่มีหน้าที่ม้าทรง และผู้เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นตามที่ผู้บริหารศาลเจ้ากำหนด โดยให้มีมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด

ซึ่งในช่วงของการจัดประเพณีถือศีลกินผัก กรมควบคุมโรคได้แนะนำวิธีกินเจให้ อิ่มบุญอิ่มใจแบบนิวนอร์มอล เพื่อเป็นการป้องกันโควิด-19 ตลอดทั้ง 9 วัน ของการรักษาศีล ปฏิบัติธรรม และงดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ ตามความเชื่อว่าการเน้นรับทานผัก ผลไม้ หรืออาหารเจจะช่วยในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ได้กุศล ซึ่งการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ถือเป็นการเสริมบุญบารมี และยังเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาพที่ดี แต่จะต้องกินให้ถูกหลักโภชนาการ

สำหรับในช่วงประเพณีถือศีลกินผัก การงดกินเนื้อสัตว์ในทางด้านสุขภาพยังถือเป็นการพักระบบย่อยอาหาร เนื่องจากอาหารเจจะเน้นผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรต หรือโปรตีนจากถั่วต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์มาก ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงไม่ต้องทำงานหนัก

อย่างไรก็ตาม ในการรับประทานอาหารเจ ผู้บริโภคต้องรู้จักการดูแลสุขภาพด้วย เพราะอาหารเจส่วนใหญ่มักทำจากแป้ง ใช้วิธีการทอด และมีไขมันสูง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการกินอาหารเจ เช่นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนหรือโรคหัวใจ ควรต้องให้ความสำคัญกับการเลือกกินอาหารเจเป็นพิเศษ เพราะอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลในเลือดและระดับความดันโลหิต โดยต้องระวังอาหารประเภททอดโดยใช้น้ำมันหรือเกลือเป็นส่วนประกอบ ส่วนผลไม้ควรเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเจให้ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากอาหารเจที่จำหน่ายส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง เป็นอาหารทอด ไขมันสูง และเค็ม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งปัจจุบันสถานการณ์ยังคงมีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้เทศกาลกินเจปี 2564 ต้องมีมาตรการป้องกัน เช่น สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และหมั่นล้างมือเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสืบสานประเพณีสืบสานประเพณีถือศีลกินผักต่อไป

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำการกินเจให้อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย และมีสุขภาพดี โดยแนะนำให้ยึดหลัก 4 ล. ได้แก่

1. ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และละเว้นการกินอาหารรสจัด และผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด (หัวหอม หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีน กระเทียม กุยช่าย และใบยาสูบ)
2. เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ด ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ เพื่อป้องกันการขาดโปรตีน เน้นเพิ่มผัก (ใบผัก) และผลไม้ (หวานน้อย) รวมทั้งเลือกร้านอาหารที่สะอาดได้มาตรฐาน
3. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดตามขั้นตอน ก่อนปรุง ก่อนกิน โดยล้างผ่านน้ำไหล 2 นาทีตามด้วยการแช่ในสารละลาย เช่น เกลือ น้ำส้มสายชู ผงฟู หรือน้ำยาล้างผักประมาณ 15 นาที แล้วตามด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสารละลายออกให้หมด ช่วยขจัดเชื้อโรค และลดการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ ถึงร้อยละ 60 - 92
4. ลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน และลดหวาน มัน เค็ม อาหารที่ปรุงรสจัด ควรเน้นอาหารที่ทำด้วยวิธีการนึ่ง ต้ม หรือตุ๋น

และต้องเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นและพบได้บ่อยอย่าง โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด จากการประกอบอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หรือ ปรุงอาหารไว้นาน ไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้เดือดก่อน เมื่อมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ร่วมด้วย ให้จิบน้ำ ผสมสารละลายเกลือแร่ ป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการรับและแพร่เชื้อโควิด-19 ในช่วงการเข้าร่วมกิจกรรม ขอให้ทุกท่านสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และผู้ถือศีลกินเจควรใช้เวลาในสถานที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เมื่อกลับถึงบ้านขอให้รีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อป้องกันการรับและการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่