การต่อสู้กับ “แบคทีเรียกินเนื้อคน” หรือโรคเนื้อเน่า ของชายต่างชาติในภูเก็ต

เอ็ด โอลีสแลเกอร์ ‘Ed Olieslagers’ ชายชาวต่างชาติที่พักอาศัยระยะยาวบนเกาะภูเก็ต กำลังปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ Necrotizing fasciitis หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า หลังจากที่เขาถูกยุงกัดและสุดท้ายเขาต้องสูญเสียขาของเขาไป

ข่าวภูเก็ต

วันพุธ ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566, เวลา 10:00 น.

ซ้าย: ภาพเท้าของ Ed Olieslagers เมื่อเขามาถึงโรงพยาบาล ขวา: เอ็ดที่ขาของเขาถูกตัดเพื่อรักษาชีวิตใน 4 เดือนต่อมา

ซ้าย: ภาพเท้าของ Ed Olieslagers เมื่อเขามาถึงโรงพยาบาล ขวา: เอ็ดที่ขาของเขาถูกตัดเพื่อรักษาชีวิตใน 4 เดือนต่อมา

“มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและเกิดได้ทุกเวลา การแพทย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคนี้น้อยเกินไป และมักจะวินิจฉัยโรคได้ช้าเกินไปด้วย ซึ่งการละเลยไม่ใส่ใจกับบาดแผลเล็ก ๆ ที่คิดว่าไม่เป็นอันตรายคือจุดเริ่มต้นของปัญหา” เอ็ด กล่าวเตือน

เอ็ด อายุ 62 ปี มีพื้นเพเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ แต่ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 โดยเขาอาศัยอยู่ที่ภูเก็ตในระหว่างปี 2553-2557 อดีต ‘ผู้ซื้อ/เจ้าหน้าที่เชิงกลยุทธ์ระดับโลก’ ให้กับ ‘รถยนต์/รถบัสวอลโว่’ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่เขามีแผนจะย้ายกลับมาอยู่ที่ภูเก็ตในปีนี้

แพทย์วินิจฉัยโรคเมื่อวันที่ 17 เมษายนปีที่แล้ว หลังจากที่เขาถูกยุงกัด จนเกิดอักเสบและอาการแย่ลง “สัญญาณแรกคือความเจ็บปวดแสนสาหัส ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคเกาต์” เอ็ดเล่า

หลังจากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณของการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เขาไปพบหมอรักษาโรคไขข้อโรคข้อเป็นครั้งแรก และเขาก็ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลในอีก 4 ชั่วโมงต่อมา ในแง่หนึ่งเอ็ดยังโชคดีที่ทางแพทย์ของโรงพยาบาลวินิจฉัยการติดเชื้อได้ถูกต้องภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง โดยเอ็ดได้แสดงภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานว่าเกิดอะไรกับเท้าของเขาในเวลา 2 ชั่วโมงนั้น

“และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการผ่าตัดที่ยาวนาน การใช้ยา และความเจ็บปวดแสนสาหัส ที่ผมยังไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้” เอ็ดกล่าว

เอ็ดเข้ารับการผ่าตัดทั้งหมด 9 ครั้ง ในที่สุดก็ส่งผลให้เขาต้องตัดขาซ้ายช่วงเหนือเข่า ขาขวาท่อนล่างใต้เข่าของเขาก็ต้องถูกตัดเช่นกัน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

“ในที่สุดผมก็ออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 โดยรวมแล้ว น้ำหนักผมลดลงไป 25 กิโลกรัม ในช่วงเวลา 4 เดือน” เอ็ดกล่าว ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีหลายครั้งที่เขากังวลเป็นอย่างมาก ว่าเขาจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่

“ผมตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น (16 ส.ค.) และถามตัวเองว่าผมจะต้องทำยังไง” เอ็ดเล่าต่อไปว่า ผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันหนักหนามากและต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าที่เขาจะทำใจได้กับสถานการณ์ใหม่ในชีวิตของเขาด้วยการ “ยอมรับสถานการณ์และแก้ปัญหาตามที่ปรากฏตรงหน้า”

การฟื้นตัวทางกายภาพและการเงินก็มีความสำคัญเช่นกัน “วางแผนเอาชีวิตรอดเพื่อเป็นอิสระและฝึกฝนร่างกายให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมโดยเร็วที่สุด” เอ็ดกล่าว

การติดเชื้อและการรักษาตัวในโรงพยาบาลส่งผลกระทบต่อการเงินของเอ็ด ก่อนเกิดโควิด-19 เขาเคยทำธุรกิจออกแบบและก่อสร้างสระว่ายน้ำที่ประสบความสำเร็จในชื่อ บริษัท สมุย วอเตอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ผลกระทบของการระบาดใหญ่ทำให้ธุรกิจของเขาพังทลาย

Berda Claude International School of Phuket (BCIS)

เงินออมของเขาหมดลงและไม่มีรายได้ ส่งผลให้ประกันสังคมของเขาขาดไป เอ็ดได้ขอความช่วยเหลือผ่าน Go Fund Me ในชื่อ ‘Ed Olieslagers’s Road to Mobility’ มีเป้าหมายที่ 50,000 ยูโร (ประมาณ 1.78 ล้านบาท) จนถึงตอนนี้เขาได้รับเงินบริจาคเพียงประมาณ 780 ยูโร (ประมาณ 27,802 บาท)

เป้าหมายคือการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ยังค้างอยู่ ซึ่งมีจูดี้เพื่อนชาวออสเตรเลียเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเอ็ดต้องการจ่ายคืนเป็นเงินจำนวน 650,000 บาท สำหรับจำนวนเงินอีก 500,000 บาท จะเป็นเงินสำหรับขาเทียมและการแก้ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว “ขาเทียมมีราคาแพง และผมยังวางแผนที่จะใช้รถเอทีวีเพื่อใช้ขับไปไหนมาไหนด้วย” เอ็ดกล่าว ส่วนที่เหลือจะถูกใช้เป็นค่าครองชีพซึ่งก็เพียงระยะสั้นเท่านั้น “ผมกำลังเริ่มต้นธุรกิจใหม่ แต่นั่นก็ต้องใช้เวลา กว่าที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้” เอ็ดอธิบาย

สำหรับการทางเลือกในการกลับบ้านเกิดนั้นก็เต็มไปด้วยปัญหา “สายการบินไม่อนุญาตให้ผมเดินทางคนเดียวโดยไม่มีขาเทียม เมื่อกลับถึงบ้านจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ ในการการแจ้งที่อยู่อย่างเป็นทางการ และการร้องขอสวัสดิการสังคมที่จะใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ในการดำเนินการ หลังจากนั้นประกันสุขภาพสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางกลับจะใช้เวลาอีก 8 สัปดาห์ และการประเมินต่าง ๆ สำหรับขาเทียมจะใช้เวลา 8 ถึง 12 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มต้นได้” เขากล่าว

และเพื่อสนับสนุนเอ็ดทางกลุ่ม Immortals Thailand ได้จัดงานระดมทุนที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงอันตรายของโรคนี้ด้วย

เอ็ดอธิบายว่าอีกว่า โรคนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในสังคมทั่วไปยังไม่มีการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ แม้ในทางการแพทย์เองก็ยังไม่ได้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง และการรักษามักจะเริ่มต้นด้วยการลองผิดลองถูก

“ในกรณีเฉพาะของผมร่างกายเริ่มมีปฏิกิริยา จากนั้นการติดเชื้อใหม่ก็พัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดผมก็จบลงด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดถึงสองครั้ง หมายความว่าร่างกายเริ่มปิดการทำงานส่วนที่ไม่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตเว้นแต่คุณจะรับการรักษาอย่างฉับพลันทันท่วงทีเช่นการตัดแขนขา” เขาอธิบาย

“กรณีของผมเกิดจากการถูกยุงกัด มันสามารถเริ่มต้นจากแผลใด ๆ ของเนื้อเยื่อผิวหนังก็ได้” เขากล่าวเสริม และสังเกตว่าการติดเชื้อโรคเนื้อเน่า สามารถมาจากรอยข่วนของแมว แผลเปิดที่เท้าจากการก้าวพลาด หรือแม้แต่การโกนขน

“ผู้คนมักจะคิดว่า ‘แค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ทำไมต้องกังวล’ ‘มันจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเราหรอก’ ซึ่งนั่นเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ ไม่เพียงแต่กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและเซลลูไลติสเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนเช่นคุณและผมด้วย และแม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่เด็ก ๆ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น” เขากล่าว

“ในส่วนของความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนี้นั้น ตอนนี้ผมสามารถจัดการมันได้แล้ว แต่ถึงวันนี้มันยังไม่มีใครสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงต้องลงมือทำเอง และวันพรุ่งนี้ผมก็ต้องทำให้ได้ดีกว่าวันนี้!” เอ็ดกล่าว

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่