นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบ Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ “หมอพร้อม” “MOPH Refer” และ “Imaging HUB” เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในครั้งนี้เป็นไปตามกรอบธรรมาภิบาลและมาตรการด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างไร้รอยต่อ ปัจจุบันมีหน่วยบริการทั่วประเทศเชื่อมโยงระเบียนประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (PHR) แล้วทั้งสิ้น 10,435 แห่ง ในส่วนของ ม.อ. มีการลงนามข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ร่วมกับ สธ. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 68 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นในการรักษา
“การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบต่าง ๆ ช่วยให้แพทย์สามารถส่งต่อผู้ป่วยด้วยใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์และเข้าถึงข้อมูลสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการด้านบริการสุขภาพในยุคปัจจุบัน ที่เน้นความสะดวกและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” 1,648,375 คน สามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพในการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการสาธารณสุขจากโทรศัพท์มือถือของตนเอง” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากล และเป็นต้นแบบของการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ในอนาคต”
ผศ.นพ.กิตติพงศ์ เผยว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์มีบทบาทในการศึกษา ออกแบบระบบ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข การแพทย์ การวิจัย ตลอดจนให้คำปรึกษาและประมวลผลข้อมูลบริการด้านสาธารณสุขในระดับภูมิภาค โดยมีการประสานและดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ โดยคณะทำงานร่วมกันการออกแบบและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพและข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
“ภายใต้มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในการบริหารจัดการข้อมูลและสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจในการยกระดับการบริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น และปลอดภัยสูงสุด ลดภาระและระยะเวลาที่จะต้องขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อผู้ป่วยต้องการรับการรักษาจากโรงพยาบาลอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทีมแพทย์และผู้ให้การรักษาจะทราบข้อมูลรวมถึงประวัติการรักษาเดิมของผู้ป่วย ทำให้สามารถรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที”
“ในส่วนของแพทย์ ระบบข้อมูลสุขภาพนี้ช่วยให้แพทย์ทราบประวัติ อาการของโรค และยาที่ผู้ป่วยเคยได้รับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลแก่แพทย์ได้อย่างครบถ้วน อาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคอะไร และรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง ดังนั้นการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทยต่อไปในอนาคต” ผศ.นพ.กิตติพงศ์ กล่าว