’ภูเก็ตแออัดที่สุดในโลก’ เอกชนเรียกร้องรัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการเป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพ

ภูเก็ต - เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Money Transfers รายงานว่าภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มีผู้คนแออัดพลุกพล่านที่สุดในโลก ซึ่งการสำรวจของ MoneyTransfers.com รายงานว่า 10 อันดับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้คนหนาแน่นที่สุดในโลกนั้นมี ภูเก็ต ติดเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ พัทยา และกระบี่ ตามลำดับ ก่อนที่จะเป็นเมืองมูกลาในตุรกี และเมืองฮูร์กาดาของอียิปต์

ณัฏฐ์นรี ลิขิตวัฒนสกุล

วันเสาร์ ที่ 5 ตุลาคม 2567, เวลา 11:00 น.

ทางด้าน นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความเห็นกับกรณีนี้ว่าตนเห็นด้วยว่าข้อมูลของผลการสำรวจนี้เป็นจริง เนื่องจากทางผู้สำรวจใช้ข้อมูลตัวเลขของจำนวนประชากรในทะเบียนบ้านไปเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว แม้จะยอมรับว่าผลสำรวจแต่ก็ได้โต้แย้งในข้อนี้โดยให้เหตุผลว่า การสำรวจดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เนื่องจากโครงสร้างประชากรในจังหวัดภูเก็ตนั้น ไม่สามารถยึดเพียงจำนวนผู้อาศัยในสำมโนประชากร เพราะในภูเก็ตนอกจากจำนวนประชากรที่มีทะเบียนบ้านในภูเก็ตแล้ว ยังมีประชากรแฝงทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวอีกด้วย

“ภูเก็ตมีประชากรในทะเบียนอยู่ที่ประมาณสี่แสน แล้วก็ยังมีประชากรแฝงคือคนที่เข้ามาทำงานแล้วไม่ลงทะเบียน คือยังคงทะเบียนบ้านที่เดิมในจำนวนเท่า ๆ กันคือประมาณสามสี่แสน หลายคนพาครอบครัวพาลูกมาอาศัยและเรียนหนังสือในภูเก็ต และในขณะเดียวกันเราก็จะมีนักท่องเที่ยวในเกาะในอัตราเดียวกันก็คือสี่แสน ซึ่งแล้วแต่ช่วงเพราะบางช่วงตัวเลขนักท่องเที่ยวก็จะกระโดดขึ้นไปสูงกว่านี้ อาจจะขึ้นไปถึงแปดแสน ซึ่งอันนี้คือภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต” นายธเนศ อธิบาย

“เรามีคนอยู่ในเกาะประมาณ 1,200,000 ตลอดเวลาและอาจจะขยับขึ้นไปถึง 1,500,000 - 1,800,000 คน ถ้าเอางานวิจัยของเขามาชี้วัดถามว่าจริงไหมมันก็เถียงเขาไม่ได้ แต่ผมกลัวว่าเรื่องพวกนี้เวลามันถูกสะท้อนภาพออกไป มันจะทำให้คนเข้าใจว่าเวลาเดินไปที่ไหนก็มีแต่นักท่องเที่ยวจำนวนมากจนแออัด คนก็จะจินตนาการว่านักท่องเที่ยวเต็มเมืองเก่าภูเก็ตหรือชายหาด ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น” เขากล่าว

ความคาดหวัง

“เราอยากเห็นคนที่มาอยู่ในภูเก็ตย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา เราอยากเห็นมานานแล้ว เพราะเรามีปัญหาเยอะแยะตั้งแต่เราทำแซนด์บ็อกซ์ เวลาภาครัฐจัดสรรวัคซีนให้เรา เราบอกว่ามีประชากรอยู่สี่แสน ประชากรแฝงอีกสี่แสนเขาก็จัดให้เราไม่ได้ เพราะเขาให้ได้แค่ตามจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎร์เท่านั้น ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นประชากรแฝงย้ายมาลงทะเบียนบ้านที่เรา เพราะสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นก็คือการจัดสรรงบประมาณของรัฐก็จะทำได้ดีขึ้น”

นายธเนศชี้ถึงงบพัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับเพียงปีละประมาณ 160 - 170 ล้าน ซึ่งน้อยกว่างบประมาณพัฒนาจังหวัดที่จัดสรรให้กับจังหวัดเล็ก ๆ ทางอื่น ๆ ด้วยซ้ำ “ทั้ง ๆ ที่ในทางกลับกันจังหวัดภูเก็ตปี 2566 มีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสามแสนกว่าล้าน ปีนี้ ททท.ประเมินไว้ว่าปีนี้จะปิดที่ห้าแสนล้านบาท หกเดือนแรกของปีนี้เกาะภูเก็ตมีรายได้ 246,000 ล้านบาท แต่งบพัฒนาจังหวัดเราก็ได้มาแค่นั้น” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เรียกร้องให้หันมามองที่ตัวเรามากกว่ารายงายจากผลสำรวจ

“แทนที่เราจะไปโฟกัสเรื่องงานวิจัยของเขา เราอาจจะต้องกลับมาพูดกันในบางเรื่องมากกว่า ในฐานะภาคเอกชนเราอยากเห็นคนที่มาอาศัยมาทำงานที่ภูเก็ตย้ายสำมะโนครัวเข้ามาที่ภูเก็ต เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คุณย้ายสำมะโนครัวเข้ามาในภูเก็ต เวลารัฐบาลจัดสรรงบประมาณทุกชนิด เขาก็จะจัดสรรตามหัวประชากร ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้ามีคนลงทะเบียนอยู่ในภูเก็ตเพียงสามแสนคน งบประมาณที่จัดสรรให้โรงพยาบาลก็ตามนั้น แต่ความจริงคนในภูเก็ตใช้บริการโรงพยาบาลเป็นล้าน และนั่นคือประเด็นปัญหา”

“อีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือตั้งแต่ที่เราทำภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เราก็ได้มีการเรียกร้องไปแล้วว่า เราต้องการตลาดคุณภาพ เราต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าจำนวน “Quality over Quantity” ถามว่าตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพคืออะไร ธรรมดาเขาก็จะให้คำจำกัดความสองอย่างหลัก ๆ คือ ‘อยู่นานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น’ แต่ผมกลับมองว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญก่อนที่เราจะพูดถึงอยู่นานขึ้นหรือใช้จ่ายมากขึ้น ผมอยากเห็นนักท่องเที่ยวที่มาแล้วเคารพกฎหมายประเพณีของเราก่อน ต่อให้คุณมาอยู่นานแล้วคุณมาใช้จ่ายเยอะ แต่ถ้าคุณมาแล้วมาฝ่าฝืนกฎหมายอันนี้ก็อย่ามาเลย เพราะว่าผมก็ไม่ได้ถือว่าคุณเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ถ้าจะเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพคุณก็ต้องเคารพกฎหมายประเพณีของเราก่อน จากนั้นคุณก็มาอยู่นานขึ้นมาใช้จ่ายในท้องถิ่นมากขึ้น”

“เมื่อภูเก็ตขอนักท่องเที่ยวคุณภาพคำถามคือ “เราต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง” 1. คือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลการที่ต้องจัดสรรมาให้กับเรา 2. คือ Supply-side ซึ่งผมพูดได้อย่างเต็มปากว่าภูเก็ตไม่ว่าจะเป็นโรงแรมร้านอาหารต่าง ๆ พวกเรามีความพยายามที่จะปรับตัวตั้งแต่หลังโควิด พยายามปรับตัวให้เป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพมากขึ้น” นายธเนศ กล่าว

“แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานมันไม่มา ถนนเข้าเกาะมีเส้นเดียว เคยได้ยินเรื่องมีคนอยากมาทำถนนให้เราหลายรอบแต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น รัฐบาล 30 ปีที่แล้วก็สัญญากับเราแต่ก็ไม่เคยได้ พวกเราพยามทำกันเองประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา จากท่องเที่ยวแค่สิบกว่าล้าน ถึงปีนี้ที่อาจจะได้เห็นถึงห้าแสนล้าน รัฐบาลกลางยังไม่เอาถนนมาให้เรา ถ้าเกิดน้ำท่วมก็คือจบ”


 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่