โดยได้ระบุว่า กฎหมายป่าไม้ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นกฎหมายที่ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นมีการห้ามตัดไม้หวงห้ามบางชนิด แม้จะอยู่ในที่ดินส่วนบุคคลก็ไม่สามารถตัดได้ นับเป็นปัญหาต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการทำไม้ เพราะไม่สามารถตัดไม้บางอย่างในที่ดินของตนเองได้
คณะรัฐมนตรี จึงปรับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้ทันสมัยขึ้น เรียกว่า “กฎหมายการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์” ได้แก่ ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัง ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจี ไม้ขะยุง ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลู-ตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ซึ่งไม้เหล่านี้ ถ้าหากขึ้นอยู่ในที่ดินที่เราเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เราก็จะสามารถตัดได้
โดย ครม.เชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ปลูกสวนป่า ผู้ดูแลจัดการป่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอกชนและชุมชนที่เข้ามาลงทุนทำไม้ทางเศรษฐกิจ ให้ได้รับความสะดวกในการตัดไม้มากขึ้น เป็นการสร้างอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรมีอาชีพมั่นคงจากการปลูกป่า สร้างสวนป่าชุมชน หรือมีการออมเงินด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่นไม้พะยูง ไม้สัก หรือไม้ชิงชัน ซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและช่วยสร้างความสมบูรณ์แก่ธรรมชาติ ได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์