ซึ่งในวันนี้เองจังหวัดภูเก็ตได้มรการจัดงานรำลึกสึนามิ ครบรอบ 14 ปี แห่งความสูญเสีย โดยมีการจัดพิธี การบำเพ็ญกุศล 3 ศาสนาทั้ง พุทธ คริสต์ และอิสลาม ก่อนที่ผู้เข้าร่วมงานจะพร้อมใจกันวางดอกไม้ที่กำแพงรำลึก บริเวณสุสานไม้ขาว ส่วนเทศบาลเมืองป่าตองก็ได้มีการจัดงานรำลึก 14 ปี สึนามิ ณ ลานบางลา หาดป่าตอง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ (อ่านเพิ่มเติม คลิก)
โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศชี้แจงกรณีกระแสข่าวแจ้งเตือน 9 จังหวัดของภาคใต้ ที่มีพื้นที่ติดทะเลอันดามันและอ่าวไทย คือ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชุมพร มีโอกาสจะเกิดคลื่นยักษ์ เหมือนกรณีที่เกิดภูเขาไฟอานักกรากะตั้วปะทุขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ตามสื่อสังคมออนไลน์ บางแห่งสัมภาษณ์นักวิชาการที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง อาจทําให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและเกิดความสับสนเกี่ยวกับข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง
ในข้อเท็จจริงแนวภูเขาไฟที่อยู่บริเวณทะเลอันดามันมีความแตกต่าง ทั้งทางลักษณะทางกายภาพ ระยะทางของแหล่งกําเนิดถึงชายฝั่งที่มากกว่า ความลึกและลักษณะของท้องทะเล และขอบของชายฝั่งที่ลึกกว่า รวมถึงพฤติกรรมของการเกิดภูเขาไฟแถบนี้เกิดน้อยกว่า ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และไม่สามารถเทียบเคียงบริบทเหตุการณ์คลื่นสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซียได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยลักษณะดังกล่าวน้อยกว่า และมีผลกระทบน้อยเช่นกัน โดยปัจจัยหลักที่จะทําให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าหาฝั่งที่มีผลกระทบรุนแรง เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเล
ทางกรมฯยังระบุอีกว่า หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่เมื่อปี 2547 ภาครัฐได้ลงทุนและพัฒนาระบบการตรวจวัดแผ่นดินไหวของประเทศไทยให้มีศักยภาพและมาตรฐานสากลในปัจจุบัน และมีเครื่องมือหลากหลายชนิดเพื่อติดตามการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคนี้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยํา ที่สำคัญการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการทํางานเชิงบูรณาการข้อมูลและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
พร้อมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อข้อความที่มาจากแหล่งที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงและขาดความน่าเชื่อถือ โดยสามารถติดตามข่าวจาก กรมอุตุนิยมวิทยา สายด่วน 1182 หรือโทร 0 2399 4547 ตลอด 24 ชั่วโมง ช่องทางเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th และ http://www.earthquake.tmd.go.th // Facebook และ Twitter : Earthquaketmd