ภูเก็ตประชุมหารือกรณีร้องทุกข์การก่อสร้างห้างดังแถวตลาดเกษตร พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมชี้แจง

ภูเก็ต - วันที่ 25 มกราคม 2567 เวลา 13.30 น. นาวาเอกนพพร มีสวัสดิ์ ผู้แทนรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมกรณีการร้องเรียนร้องทุกข์การก่อสร้างห้างสรรพสินค้า ในบริเวณตลาดเกษตร โดยมี ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลนครภูเก็ต ชั้น 3

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2567, เวลา 15:00 น.

ผลสรุปจากการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีกลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตร ขอให้ตรวจสอบการขออนุญาตการก่อสร้าง การทำประชาพิจารณ์ การชะลอการก่อสร้าง รวมถึงการคัดค้านการก่อสร้างห้างดังกล่าว เนื่องจากทราบว่า จะมีลักษณะการจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าในตลาดเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในตลาดเกษตร

โดยกลุ่มผู้ร้องมีข้อกังวล คือ 1. ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรได้รับผลกระทบจากห้างขนาดเล็กอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงอยู่แล้ว เกรงว่าหากมีห้างใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการค้าขายมากยิ่งขึ้น 2. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส covid-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรมีรายได้น้อยลง และบางรายยังมีหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนประกอบกิจการ จนถึงปัจจุบัน ทั้งหนี้สินในระบบและหนี้สินนอกระบบ 3.หากมีการก่อสร้างห้างดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการจราจรแออัดมากยิ่งขึ้นในพื้นที่ 4. กลุ่มผู้ร้องมีความกังวลว่าห้างดังกล่าวจะแย่งลูกค้าในกลุ่มเดียวกันเนื่องจากราคาสินค้าที่ต่ำกว่า การให้บริการ การส่งเสริมการขาย และการอำนวยความสะดวกที่ดีกว่า 5. กลุ่มผู้ร้องเสนอให้ทางห้าง พิจารณาเลือกสถานที่อื่นที่เหมาะสมในการก่อสร้างห้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เช่น พื้นที่นอกชุมชนเมือง เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่กลุ่มผู้แทนห้างฯ ได้ชี้แจงนั้น มีรายละเอียดคือ ทางห้างสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด ดังนี้ 1. สร้างงานสร้างอาชีพ - จะเกิดการจ้างงานพนักงานประจำสาขาประมาณ 200 คนคิดเป็นค่าตอบแทนเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆประมาณ 103 ล้านบาทต่อปี 2. การชำระภาษี - จะมีการชำระภาษีให้แก่ท้องถิ่นผ่านภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงินประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของการจ้างแรงงาน, การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างสาขามูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท, การซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรในท้องถิ่น, การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์, การใช้ระบบสมาชิกสำหรับผู้ที่มาซื้อสินค้า โดยกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อสินค้า จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าในจำนวนมาก เช่น กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารขนาดใหญ่ เป็นต้น

สำหรับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมดังนี้ 1. ห้างดังกล่าวได้รับอนุญาตการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่เข้าข่ายที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ 2. ให้ห้างนำข้อกังวล ข้อห่วงใย การขอความเห็นใจ ของผู้ร้องไปพิจารณาในระดับผู้บริหารของห้างดังกล่าว

ในส่วนข้อคิดเห็นของภาคเอกชน (ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ตและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต) เห็นว่า การค้าแบบ Modern Trade มีความแตกต่างกันกับตลาดเกษตร ทั้งระบบการจัดการ ระบบการตลาด อยู่ในพื้นที่ที่สะดวกในการเข้าถึง มีลานจอดรถ ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย มีความสามารถในการต่อรอง และมีต้นทุนที่มากกว่าผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตร จึงเห็นว่าการค้าแบบ Modern Trade ควรที่จะอยู่นอกชุมชนเมือง

ทั้งนี้ ประเด็นข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้สรุปว่า 1.ขอให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างห้างไปยังพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่นอกชุมชนเมือง 2. ให้ห้างจำหน่ายสินค้าที่ไม่ซ้ำซ้อนกับสินค้าในตลาดเกษตร และ 3. ช่วงเวลาการเปิด-ปิดของห้างในการจำหน่ายสินค้าให้มีความแตกต่างกับตลาดเกษตร

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่