ชาวเลราไวย์บุกศาลากลาง คัดค้าน EIA บารอน บนพื้นที่พิพาท

ภูเก็ต - วันนี้ (26 ส.ค.) เวลาประมาณ 10.45 น. เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต ชุมชนชาวราไวย์ หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ. ภูเก็ต พร้อมกันที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขอคัดค้านกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการโรงแรมซาเทรียม โฮเต็ล ราไวย์บีช ภูเก็ต โดย บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ที่ดำเนินการในพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างข้อพิพาท รวมถึงหนังสือร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ แนวเขตที่สาธารณะหน้าหาดราไวย์ และขอติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบคลองหลาโอน

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 26 สิงหาคม 2562, เวลา 15:46 น.

นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชุมชนชาวเลราไวย์ พร้อมด้วย นายสุภาพ บู่ทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต และ ชาวเลราไวย์ กว่า 50 คน รวมตัวกัน ณ สนามชัยภูเก็ต และเดินเข้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยมี ว่าที่ร้อยตรี วิกรม จากที่ นายอำเภอเมืองภูเก็ตรับหนังสือฯ

หนังสือทั้งสองฉบับลงวันที่วันนี้ โดย นายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชุมชนชาวเลราไวย์ ระบุว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้พบว่ามีกลุ่มคนเข้ามาในชุมชน และเดินสอบถามข้อมูลในพื้นที่ โดยมีแผ่นใบปลิว เอกสารแนบมาด้วย ซึ่งชาวกลุ่มชาวเลโดยส่วนมากไม่เข้าใจว่ามีการเก็บข้อมูลอะไร และจะนำไปทำอะไรต่อ จึงได้นำเอาแผ่นปลิวมาให้กรรมการชุมชน เพื่อให้มีการเรียกประชุมชี้แจงในเรื่องดังกล่าวกับชาวเล

กรรมการชุมชนชาวเลราไวย์ได้มีการปรึกษาหารือกันและได้เรียกประชุมชาวเลราไวย์ แล้วเห็นร่วมกันว่ากระบวนการจัดทำ EIA ดังกล่าว ทำขึ้นมาเพื่อรับรองการดำเนินโครงการโรงแรมซาเทรียม โฮเต็ล ราไวย์บีช ภูเก็ต โดย บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเหตุผล 5 ข้อคือ

1. พื้นที่ดำเนินโครงการยังมีข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับบริษัท ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดภูเก็ต

2. พื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เรื่องแนวเขตพื้นที่สาธารณะหน้าชายหาดราไวย์ และการตรวจสอบพื้นที่แนวคลองโอน ที่มีกรณีพิพาทกับชุมชน ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการระดับชาติ และคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งผลการตรวจสอบยังไม่เป็นที่ยุติ

3. ด้านหน้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง มีพื้นที่สาธารณะที่ชาวเลได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 100 ปี เพื่อการประกอบพิธีกรรม อันมีความสำคัญในจิตวิญญาณของชาวเล เป็นพื้นที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ทั้งการซ่อมเรือประมง ทำเครื่องมือ (อวน, ลอบ) และเป็นพื้นที่นำสัตว์ทะเลที่หามาได้ขึ้นฝั่งมาขาย

4. กระบวนการจัดทำ EIA ดังกล่าว ละเลยต่อการพิจารณาความเปราะบางของทะเล และชายหาดราไวย์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนและชุมชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่ใช้ทรัพยากรสำคัญบริเวณหน้าหาดราไวย์อย่างมีนัยสำคัญ

และข้อ 5. กระบวนการจัดทำ EIA ของโครงการควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในบริบทของพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนสูง ซึ่งกลุ่มคนในชุมชนที่อยู่ติดพื้นที่โครงการ อ่านออกเขียนได้มีไม่ถึง 10% มีภาษาพูดของตนเองและทำความเข้าใจต้องใช้การมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย

นายนิรันดร์ ระบุว่า ชุมชนชาวราไวย์จึงขอคัดค้านกระบวนการจัดทำ EIA ของโครงการดังกล่าว โดยขอให้ผู้ว่าฯในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และ EIA พิจารณาระงับการดำเนินการดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าประเด็นการตรวจสอบพื้นที่และการพิจารณาคดีของศาลจะสิ้นสุด

สำหรับข้อร้องเรียนของชาวเลราไวย์ เรื่องขอให้ตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณะหน้าหาดราไวย์ และขอติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบคลองหลาโอน ซึ่งทางชุมชนมีข้อพิพาทกับเอกบริษัทเอกชนนั้น ระบุว่าภายหลังจากที่ได้มีการรื้อแนวเขื่อนกันคลื่นออกแล้ว หลังจากชาวเลได้ร้องเรียนให้ทางการรื้อถอนเขื่อนกันคลื่นในชุมชน (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ทำให้หน้าหาดบริเวณดังกล่าวค่อย ๆ ฟื้นตัวเป็นหาดทรายที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

นายนิรันด์ยืนยันว่า จากสภาพความเป็นจริงที่เห็นได้ในปัจจุบัน บริเวณหน้าหาดราไวย์จะมีแนวเขตเป็นธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แนวเส้นตรงตามข้อกล่าวอ้างตามเอกสารสิทธิ์ของเอกชน จึงใคร่ขอให้ทางจังหวัดสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบและรังวัดพื้นที่สาธารณะหาดหน้าหาดราไวย์ เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ต่อไป

ส่วนประเด็นติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบคลองหลาโอน นายนิรันด์อ้างถึงมติที่ประชุมจังหวัดล่าสุดที่ได้แจ้งว่า จะมีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ พร้อมทั้งอ้างว่าขณะนี้ในพื้นที่บริเวณปากคลองละโอน เอกชนได้มีการขุดปากคลองให้ลึก แต่มีการถมพื้นที่เข้าไปในบริเวณริมคลองมากขึ้น ทำให้ปัญหาเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ทางเครือข่ายฯและชุมชนชาวเล จึงขอให้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการตรวจสอบเป็นการเร่งด่วนด้วย

สำหรับข้อพิพาทระหว่างชาวเลชุมชนราไวย์ และ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด จำกัด เกิดขึ้นอย่างต่เนื่องเป็นเวลานานแล้ว รวมถึงเหตุปะทะจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

มีนาคม 2560 บารอนฟ้องกลับชาวเล 31 ล้าน ภายหลังจากที่ชาวเลย์ได้ยื่นฟ้องทางบริษัทฐานละเมิด พร้อมเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท (อ่านเพิ่มเติม คลิก) รวมถึงเรื่องราวพิพาทระหว่างชาวเลราไวย์และเอกชนรายอื่น ๆ ที่ยังคงดำเนินต่อไปในชั้นศาลอีกหลายคดี อาทิ กุมภาพันธ์ 2560 ชาวเลราไวย์ดื้อตาใสขวางเจ้าหน้าที่รื้อบ้าน 2 หลัง คืนที่ดินให้เจ้าของสิทธิ์ที่ชนะคดี เจ้าของที่ดินถาม “หากกฎหมายบังคับไม่ได้ ต่อไปโฉนดจะมีคุณค่าอะไร” (อ่านเพิ่มเติม คลิก) หรือ มีนาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยืนตามชั้นต้นยกฟ้องกรณีเอกชนฟ้องบุกรุกชาวเลราไวย์ อีก 1 คดี (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

 

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่