โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โอกาสทำเงินสินค้าอาหารแห่งอนาคต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่พบว่าผู้คนได้หันมาใส่ใจสุขภาพ และรับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์จากพืชกันมากขึ้น

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565, เวลา 13:00 น.

โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ภาพ Ella Olsson

โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ภาพ Ella Olsson

ซึ่งเทรนด์การรักษาสุขภาพนั้นจะยังคงมีอยู่และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะวิกฤติโรคระบาดทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และแน่นอนว่าสิ่งสำคัญก็คือความปลอดภัยของอาหาร และเทรนด์การส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของพฤติกรรมการบริโภคอาหารมีพืชเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อเทรนด์ของผู้บริโภคให้มีการเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการหันมาใส่ใจสุขภาพและเลือกรับประทานอาหารคุณภาพดีมีประโยชน์ ทำให้ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ “future food” ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน จนกลายเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
“เทรนด์อาหารในอนาคต ที่น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว เช่น อาหารพืชแบบธรรมชาติ (Plant-Based Food) อาหารจากแมลง (Insect Food) และอาหารจากท้องถิ่น (Localization)

เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีวัตถุดิบที่เหมาะสม และมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าว สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มนักท่องเที่ยว” นายพจน์ กล่าว

สำหรับอาหารครองใจคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อันดับต้น ๆ ก็คือ “จิ้งหรีด” เพราะนอกจากจิ้งหรีดจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในโปรตีนแห่งอนาคตแล้ว ล่าสุดยังได้รับการขนานนามให้เป็น “ปศุสัตว์รักษ์โลก” อีกด้วย และถือเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยและยั่งยืนในมุมมองประชากรที่รักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตที่ใช้น้ำน้อย มีอัตราแลกเนื้อสูง ทั้งยังเป็นสินค้าที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการผลิตเชิงอุตสาหกรรมอย่างซับซ้อน ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้หรือเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอื่น และยังสามารถบริโภคได้ทั้งหมด ไม่เหลือทิ้ง จึงถือเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยและยั่งยืน

ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ในการสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคตของไทย ส่งออกสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสในการค้าและลงทุนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งได้จัดโครงการในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมสมาชิกผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกไปยังสมาชิก ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้มาตรฐานฯ จำนวน 157 รายแล้ว

นอกจากนี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน APEC 2022 ซึ่งจะเป็นการต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นโอกาสที่จะสามารถแสดงศักยภาพและภาพลักษณ์ด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหารและอาหารแห่งอนาคต โดยภาคเอกชนพร้อมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถต่อไป

สำหรับมูลค่าส่งออกอาหาร future food ของไทยในระยะ 10 ปี (2010-2021) พบว่า มีสัดส่วนส่งออกอาหารอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 2564 มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารของไทยสูงกว่า 806,430 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาหารกลุ่ม future food กว่า 71,570 ล้านบาท

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่