โควิด-19 ทำสถานประกอบการภูเก็ตเลิกจ้างกว่า 5 พันคน เร่งช่วยเหลือบรรเทาทุกข์

ภูเก็ต - วันนี้ (17 มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาในการบริหารจัดการด้านแรงงานในระดับพื้นที่และความต้องการให้ภาครัฐ ช่วยเหลือด้านแรงงานในภาวะวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 มี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม คอซิมบี้ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

เอกภพ ทองทับ

วันอังคาร ที่ 17 มีนาคม 2563, เวลา 19:32 น.

ท่าอากาศยานภูเก็ตฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคบริเวณอาคารผู้โดยสาร ตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายการติดเชื้อไวรัส ภาพ ทภก.

ท่าอากาศยานภูเก็ตฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคบริเวณอาคารผู้โดยสาร ตามมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายการติดเชื้อไวรัส ภาพ ทภก.

ที่ประชุมโดย หน่วยงานในกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย แรงงานจังหวัดภูเก็ต, จัดหางานจังหวัดภูเก็ต, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต, ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน และมาตรการในการช่วยเหลือจากนโยบายของกระทรวงแรงงาน

โดยสรุป สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต รายงานจำนวนลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนในสถานประกอบการทั้งหมด จำนวน 33,896 คนในจำนวนนี้ เลิกจ้าง 5,326 คนในจำนวนนี้ได้เข้าร้องทุกข์ที่สำนักงานฯแล้วจำนวน192 คน

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต รายงานสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 11,875 แห่ง ปัจจุบัน เลิกจ้าง จำนวน 135 แห่ง

สำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต รายงาน รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน จำนวน 2,095 ราย (26ม.ค.-15มี.ค.63) คนมาลงทะเบียนว่างงานเฉลี่ยประมาณ 62คนต่อวัน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 10 คนต่อวัน สาเหตุที่ถูกเลิกจ้างจากไวรัสโควิด-19 ประมาณ 16.80% จากผู้ที่มาขึ้นทะเบียนว่างงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องในด้านการท่องเที่ยว ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ได้ให้การช่วยเหลือการรับขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชยแก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รับขึ้นทะเบียนหางานให้คำปรึกษาแนะแนวอาชีพ รวบรวมตำแหน่งงานว่างโดยออกหาตำแหน่งงานเชิงรุกเพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างไม่น้อยกว่า 48 ตำแหน่ง 826 อัตรา

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงาน สถานประกอบการปิดกิจการ 15 แห่ง โดยหน่วยงานภาครัฐ มีมาตรการในการบรรเทาการเลิกจ้าง การลดเงินสมทบของผู้ประกันตน การดูแลการรักษาพยาบาลกรณีไวรัสโควิด-19 ตามสิทธิของผู้ประกันตน และ การอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในหลักสูตรต่างๆมีค่าเบี้ยเลี้ยงและอาหารเครื่องดื่มบริการ เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานและสร้างรายได้แก่ผู้ถูกเลิกจ้าง

ภาคเอกชน รายงานสถานการณ์การเข้าพักตามโรงแรมต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต เดือนมีนาคม 2563 มีอัตราเข้าพัก 20% เดือนเมษายน เริ่มลดลงน้อยกว่า 20% เดือนพฤษภาคมจะน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้น สถานประกอบการต่าง ๆ มีนโยบายลดรายจ่าย ปิดห้องพักบางโซนที่ไม่มีลูกค้า การประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ส่วนการเลิกจ้างพนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นกับการประกอบการของสถานประกอบการ

สิ่งที่ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเร่งด่วน คือ ขอหน้ากากอนามัย แก่สถานประกอบการทุกแห่ง, ขอให้ภาครัฐพยุงนายจ้าง, ขอให้ลดการจัดเก็บกองทุนประกันสังคม ในระยะ 6 เดือน, ขอให้จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะที่รับรองหลักสูตรได้ให้กับบุคลากรในสถานประกอบการต่าง ๆ, ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ยกเว้นจัดเก็บภาษีเงินได้, ขอยกเลิกจ่ายค่าธรรมเนียมห้องพักกับอบจ.ภูเก็ต ร้อยละ 1 เป็นเวลา 6เดือน, ขอยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และขอผ่อนผันนำส่งเงินกู้ กยศ.

ทางด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ข้อเสนอต่าง ๆ จากภาคเอกชนจะรับไปเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงในระดับนโยบายและรัฐบาล ซึ่งบางเรื่องทำได้ในจังหวัด เช่น การประสานงานในการจัดซื้อหน้ากากอนามัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้านธงฟ้า ห้างโมเดิร์นเทรด ต่างๆ เป็นต้น แต่บางเรื่องต้องเสนอขึ้นไปถึงผู้บริหารระดับสูงให้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่