ศิลปะบนกำแพง แต้มแต่งสีสันเมืองเบตง ชูความงามใต้สุดแดนสยาม

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนนี้เองที่เหล่าศิลปินกราฟฟิตี้ จากกรุงเทพมหานครลงพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อสร้างผลงานสตรีทอาร์ทถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต สังคม และความหลากหลายแห่งวัฒนธรรม ของชาวเบตง รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ภาพกราฟฟิค ภาพแนวการ์ตูน ที่สะท้อนความสนุกสนานและสีสัน ความสดชื่น ให้กับผู้คนที่พบเห็น สร้างความประทับใจให้ชาวเบตงและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ถือเป็นการเพิ่มแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ด้วยการแต่งแต้มสีสันให้เมืองเบตง ผ่านงานสตรีทอาร์ท ให้สมเป็นเมืองต้นแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ข่าวภูเก็ต

วันศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2562, เวลา 14:00 น.

ภาพ กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ กรมประชาสัมพันธ์

เอกสิทธิ์ ศรีลาภรักษา ผู้ประสานกลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ เผยว่า กลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้ดังกล่าว เป็นกลุ่มศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ที่ได้เคยฝากผลงานใว้มากมาย อาทิ นายชวัส จำปาแสน หรือครูอะไหล่ ครูสอนศิลปะ จากสถาบันสอนศิลปะ Viridian Academy of Art ผู้ที่เคยสร้างสรรค์งานสตรีทอาร์ทรัชกาลที่ 9 (Street Art King Bhumibol) ที่ผนังของอาคารโรงเรียนอนุบาลเบตง (สุภาพอนุสรณ์) และครั้งนี้มาถ่ายทอดเรื่องของรอยยิ้ม ยิ้มสยาม ณ เบตง

รวมไปถึงชัยบูรณ์ บรรลือ หรือโจ๊กเกอร์ เคยผ่านการประกวดกราฟฟิตี้ ที่ประเทศไต้หวัน ได้ที่ 2 ในปีนี้ และเคยร่วมทำสตรีทอาร์ทที่ประเทศฮ่องกงมาแล้ว และศรัญญู หมึกศรี หรือสนิค กราฟฟิตี้เด็กแนว ผู้ที่เคยฝากผลงานสตรีทอาร์ทสุดเก๋ ย่านเมืองเก่าสงขลา ตำนานที่ยังคงมีชีวิตอยู่

ส่วนอาทิตย์ สังข์ตะคุ ผู้ที่เคยฝากผลงาน “ศิลปะกราฟฟิตี้จากประสบการณ์แห่งการเดินทาง” โดยใช้สถานที่ สิ่งแวดล้อม ยานพาหนะบนท้องถนนของสังคมเมืองเพื่อสื่อสารบางอย่าง ซึ่งสิ่งนี้เองได้ทำให้เราได้รับรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เต็มไปด้วยความสนุกซุกซน และน่าติดตาม นอกจากนี้ยังมี ศุภลักษณ์ ประภาศิริ หรืออาจารย์เเพรว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินไทยเปลี่ยนโลกด้วยพู่กัน ผู้มีชื่อเสียงดังไกลถึงนิวยอร์กซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา วาดภาพเพื่อคนไร้บ้าน

ศิลปินบางคนเคยมาแต่งแต้มสีสันให้กับเมืองเบตงแล้ว ในการจัดงานเบตง 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยได้สร้างผลงานมาแล้วกว่า 11 จุด ทั้งบนผนัง กำแพง ใต้สะพาน และตัวอาคารรอบเมืองเบตง และครั้งนี้ได้เพิ่มอีก 2 จุด คือ ทางเข้าอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์ที่อยู่ใจกลางเมืองเบตง และผนังอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ซอยชิดจันทร์ ชุมชนรัตนกิจ ในเขตเทศบาลเมืองเบตง โดยได้รับการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการประชาสัมพันธ์เมืองเบตง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวรวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของ อ.เบตง ที่เป็นเมืองต้นแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

อาจารย์เเพรวได้เล่าถึงผลงานของเธอว่า สิ่งแรกที่นึกถึงเบตง จะเห็นความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ตนจึงได้หยิบเอาเรื่องราวของนกเงือก อัญมณีมีปีกแห่งบาลา ฮาลา ที่สะท้อนความสมบูรณ์บนผืนป่าสุดท้ายปลายด้ามขวาน นอกจากนี้นกเงือกยังเป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้ จึงนำมาถ่ายทอดผ่านงานสตรีทอาร์ท ให้คู่รักได้มาถ่ายรูปกัน ส่วนรูปแมวน่ารักนั้น สะท้อนความเป็นอยู่ของชุมชน เนื่องจากเจ้าของบ้านที่ให้วาดรูปแมวเป็นคนอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สะท้อนตัวตนของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งงานศิลปะที่ถ่ายทอดออกมาจะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น แม้อำเภอเบตงจะอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์ ที่น่ากลัวอย่างที่เราคิดกัน

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่