วันนี้ของเชื้อพระวงศ์ 'คองบอง' ทายาทกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า

เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แล้วที่พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองและของพม่า ถูกเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษเนรเทศให้ไปประทับยังเมืองรัตนคีรีในอินเดียเป็นเวลานานถึง 31 ปี จนเสด็จสวรรคตลงในต่างแดน

บีบีซี ไทย

วันพฤหัสบดี ที่ 5 มกราคม 2560, เวลา 16:05 น.

นับแต่นั้นมา เรื่องราวของกษัตริย์ผู้อาภัพและเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นทายาท ก็ถูกลบเลือนไปจากตำราประวัติศาสตร์และจากความทรงจำของชาวเมียนมายุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่ครบรอบ 100 ปี การสวรรคตของพระเจ้าธีบอในปีนี้ สถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในเมียนมาหลังรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี เข้ารับตำแหน่ง ทำให้ประวัติศาสตร์ที่เคยถูกลืมเลือนกลับมาสู่ความสนใจของผู้คนอีกครั้ง โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการจัดพิธีรำลึกถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายที่สุสานของพระองค์ในอินเดีย และได้อนุญาตให้บรรดาเชื้อพระวงศ์ผู้เป็นทายาทที่อาศัยอยู่ในเมียนมา สามารถเดินทางไปร่วมงานรำลึกได้เป็นปีแรกอีกด้วย โดยมีผู้บัญชาการทหารระดับสูงและพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สำคัญของประเทศเข้าร่วมงานเช่นกัน

อเล็กซ์ เบสโคบี ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Burma's Lost Royals (เชื้อพระวงศ์พม่าที่ถูกลืม) ซึ่งจะออกฉายในกลางปีหน้า รายงานถึงบรรยากาศของพิธีรำลึกครบรอบ 100 ปีการสวรรคตของพระเจ้าธีบอว่า เต็มไปด้วยตำรวจนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการลับที่เฝ้ารักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา เนื่องจากมีบุคคลสำคัญของเมียนมาเดินทางมาร่วมงานหลายคน เช่นนายมินต์ ส่วย รองประธานาธิบดีเมียนมา และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ

เชื้อพระวงศ์ผู้เป็นทายาทของพระเจ้าธีบอต่างมาร่วมงานในชุดประจำชาติสีขาว ซึ่งเป็นสีไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมดั้งเดิม นำโดยนายอู ซอ วิน พระปนัดดา (เหลน) ของกษัตริย์พม่าองค์สุดท้าย ซึ่งทุกวันนี้เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และมีฐานะเป็นหัวหน้าของบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ได้กลับไปยังเมียนมาหลังพระเจ้าธีบอสวรรคต และต่างใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนอยู่อย่างเรียบง่ายไม่หวือหวามาโดยตลอด บ้างก็ยึดอาชีพทำไร่ชา ขายไอศครีม หรือเป็นเจ้าของโรงพิมพ์

มีชาวเมียนมาน้อยคนในปัจจุบันที่จะรู้ถึงเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์ที่ถูกลืมเหล่านี้ โดยนับแต่พระเจ้าธีบอถูกเนรเทศไปยังดินแดนที่ห่างไกล สถาบันกษัตริย์เริ่มถูกลืมเลือน จนในปัจจุบันตำราเรียนประวัติศาสตร์ของรัฐบาลได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าธีบอไว้เพียงหนึ่งบรรทัดเท่านั้น บรรดาเชื้อพระวงศ์เองแม้จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายดูกลมกลืนไปกับหมู่คนทั่วไป แต่ก็ถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลทุกยุคสมัย เนื่องจากความหวาดระแวงว่าสถาบันกษัตริย์อาจกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เชื้อพระวงศ์บางรายถูกจับกุมคุมขังในยุคหลังได้รับเอกราชและยุคเผด็จการทหาร บ้างก็ถูกลอบสังหารเช่นบิดาของอู ซอ วิน ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 1948 หลังพยายามฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาอีกครั้ง

ในปีนี้ เชื้อพระวงศ์ที่กลับไปอยู่อาศัยในเมียนมา ได้มีโอกาสพบกับญาติฝ่ายทางอินเดียเป็นครั้งแรก ซึ่งฝ่ายตระกูลนี้สืบเชื้อสายจาก "ตูตู" บุตรสาวของพระธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าธีบอซึ่งเกิดกับยามเฝ้าประตูวังและคนขับรถชาวอินเดีย ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ มานาน แต่ในครั้งนี้ต่างเข้าทักทายกันด้วยความยินดี และเชื้อพระวงศ์ฝ่ายเมียนมาบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ เมื่อได้ทราบว่าอีกฝ่ายมีความเป็นอยู่ที่ตกระกำลำบากมานาน
พิธีรำลึก 100 ปีการสวรรคตของพระเจ้าธีบอในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ถึงเวลาอัญเชิญพระบรมศพกลับสู่แผ่นดินเกิดได้แล้วหรือยัง เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อขัดข้องทางการเมืองที่ห้ามไม่ให้นำพระบรมศพกลับสู่เมียนมาหลายครั้ง เนื่องจากรัฐบาลเกรงว่าจะมีผู้ฉวยโอกาสปลุกปั่นสร้างความไม่สงบขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม อู ซอ วิน บอกว่า การนำพระบรมศพกลับสู่เมียนมานั้นเป็นสิ่งที่เขาต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นให้จงได้ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด เพราะการคืนสู่บ้านเกิดเป็นพระราชประสงค์ที่แรงกล้าของพระเจ้าธีบอเมื่อยังทรงพระชนมชีพอยู่ ส่วนเชื้อพระวงศ์สายทางอินเดียนั้นคัดค้านการนำพระบรมศพกลับเพราะจะไม่เหลือสิ่งใดเป็นอนุสรณ์ไว้ที่รัตนคีรีเลย
ด้านเชื้อพระวงศ์ทางเมียนมาบางรายเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะนำพระบรมศพกลับ เนื่องจากเมียนมายังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไขอีกมากมาย รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา ซึ่งการเชิญพระบรมศพกลับอาจยิ่งเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนให้กับปัญหาเหล่านี้ได้

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่