"ผักสวนครัว รั้วกินได้" ปลูกผักใบเขียวในสวนข้างบ้าน อร่อย ประหยัด ได้สุขภาพ ไร้สารพิษ 100%

สนามหญ้าสีเขียว ข้างบ้านหลังเล็ก ๆ ที่แสนจะอบอุ่น แสงแดดยามเช้าสาดส่องเข้ามาที่สวนที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของตัวบ้านได้อย่างเต็มที่ หญ้าใบเขียวรับแสงกันทั่วหน้าเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ กอหญ้าสีเขียวที่ปลูกเองกับมือและดูแลใส่ใจจนกลายเป็นผืนหญ้าเต็มสนามเล็ก ๆ ข้างบ้าน เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงานและวันหยุดสุดสัปดาห์ได้เป็นอย่างดีที่สุด

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันอาทิตย์ ที่ 16 มิถุนายน 2567, เวลา 10:00 น.

แต่นั่นมันคือภาพจำเมื่อนานมาแล้ว เพราะหลังจากเจ้าโรคภัยไข้เจ็บที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2019 และระบาดไปทั่วโลก ความที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น เพราะไปไหนก็ไม่ได้ จากเวิร์คฟรอมโฮมกลายเป็นทำทุก ๆ อย่างฟรอมโฮมไปเสียอย่างนั้น

จากสนามหญ้าโล่ง ๆ ที่เหมือนจะมีต้นลีลาวดีสวย ๆ ต้นสองต้น เอาไว้สร้างบรรยากาศ เริ่มมีเพื่อนเล็ก เพื่อนน้อย จากดอกไม้ต้นไม้มินิมอล กลายเป็นกระถางผักมากมายหลายหลากชนิด เรียกได้ว่าเอาจริงเอาจังกับการปลูกผักไปเลย งานอดิเรกกลายเป็นงานหลัก (รองจากงานหลักจริง ๆ) ดินเอยปุ๋ยเอยถุงแล้วถุงเล่าถูกขนเข้ามาเพื่อใช้ในการปรับปรุงดินสำหรับปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัวในบ้าน ซึ่งผลลัพธ์คือดีมาก ได้ทั้งประหยัดเงินและประหยัดเวลา แล้วก็ปลอดภัยด้วย เพราะไม่ต้องออกไปเสี่ยงโรคภัย เอาจริง ๆ ก็ออกไปยากด้วย ณ ตอนนั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้ผักปลอดสารพิษออแกนิคแท้ 100%

จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปีและกลายเป็นหลายปี กว่าที่เจ้าโรคนี้จะถูกนิยามให้เป็นเสมือนไข้หวัดธรรมดาทั่วไป รู้ตัวอีกทีต้นไม้เต็มบ้าน สนามหญ้าเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเอาจริง ๆ สภาพคือค่อนไปทางรกไม่ไหว จนต้องทำการรื้อบางส่วนออกไปบ้าง เพื่อขอพื้นที่สนามหญ้ากลับคืนมา เพราะต้นไม้เยอะก็ดูแลยากอยู่ไม่น้อย และเราเองก็ไม่ได้มีเวลาเหลือให้ตัวเองมากมายเหมือนแต่ก่อนแล้วด้วย

สนามหญ้าโล่งอยู่ได้ไม่นาน ก็เดินทางมาถึงยุค “สวนผัก” ที่จริงจังมากกว่าที่เคยผ่านมา เมื่อ “คุณยาย” เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของบ้านอีกคน ผักที่ไม่ได้มาแค่กระถางเล็ก ๆ ต้นสองต้น แค่พอได้เด็ดกิน กลายเป็น “แปลงผัก” แบบจริงจังที่สุด ใครเห็นก็อึ้งว่าแกสามารถเปลี่ยนสนามหญ้าเป็นแปลงผักได้อย่างไร

เมล็ดผักนานาพันธุ์ถูกหว่าน ถูกฝังกลบลงไปในดิน ตามไปด้วยปุ๋ยสูตรชีวภาพ และการดูแลบำรุงรดน้ำในทุก ๆ วัน (ท่ามกลางช่วงอากาศที่แห้งแล้ง เพราะฝนยังไม่มีตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำกันสักเท่าไร) เมล็ดผักนานาที่ได้รับการดูแลอย่างดี เกิดเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ เต็มพื้นที่

ผ่านไปไม่กี่สัปดาห์พืชผักใบเขียวก็พร้อมให้เก็บรับประทานแบบสด ๆ ไร้สารพิษ 100% ผักที่เราเคยซื้อที่ตลาดก็ไม่ต้องซื้ออีกต่อไป แล้วที่สำคัญตอนนั้นคือผักในตลาดแพงขึ้นมาก (ตอนนี้ไม่รู้ยังแพงอยู่ไหม เพราะไม่ได้ซื้อผักที่ตลาดมานานมาก ‘ขิง ๆ’) ยกตัวอย่าง “ถั่วฝักยาว” ที่จำได้ว่าครั้งที่ซื้อล่าสุดนี่คือ 6-7 ฝักปาเข้าไปเกือบ 40 บาท เฉลี่ยแล้วฝักละเกือบ 10 บาทเลยทีเดียว (เกือบเป็นลม) แต่มาวันนี้บ้านเรามีถั่วฝักยาวกินได้แบบไม่อั้น แถมมีไว้เผื่อแผ่เพื่อนบ้านด้วย แบ่งปันผักสด ๆ ออแกนิคเพื่อสุขภาพให้ได้กินกันแบบสบายใจว่าเป็นผักปลอดสารพิษจริง ๆ ไม่ใช่แค่การโฆษณา

อย่างไรก็ตาม การที่เราปลูกผักหรือต้นไม้ในบ้าน สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือการดูแลตกแต่ง เพื่อไม่ให้กิ่งก้านสาขาของมันดูรกรุงรังจนเกินไป และถ้าปล่อยไว้มาก ๆ อาจจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ไม่พึงประสงค์อย่างยุงลายได้

“ข้อดี” การปลูกผักใบเขียวในบ้านนั้นมีมากมาย ประหยัดเงิน ประหยัดเวลาในการออกไปซื้อ/หาที่จอดรถ แถมยังไม่ต้องฝ่าการจราจรออกจากบ้านด้วย ที่แน่ ๆ คือ อร่อยได้สุขภาพ ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง เพราะคุณยายจะมีวิธีกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีชีวภาพ ซึ่งสูตรก็ไม่ได้ยุ่งยากมากมายแต่ได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้เราได้ผักสวย ๆ มาทำเป็นเมนูจานอร่อยได้หลากหลายไม่ซ้ำซาก ทั้งต้ม แกง ผัด นึ่ง (เอาไว้วันหลังพวกเราจะนำเรื่องราวของเมนูอร่อย ๆ ฝีมือคุณยายที่ปรุงจากพืชผักในบ้านมาแบ่งปัน เผื่อใครกำลังเบื่อ ๆ ไม่รู้จะกินอะไรดี) นอกจากนั้นการปลูกผักพรวนดินยามว่างยังถือเป็นการฮีลใจที่ดีมาก ๆ คุณยายได้ใช้เวลาว่างปลูกผักและดูแลใส่ใจผักของแกได้ทั้งวัน เป็นกิจกรรมแก้เบื่อในยามเกษียณได้เป็นอย่างดี
“ปลูกผักกินเองสารพิษไม่มี ได้ออกกำลังกายด้วย” คุณยายบอก
ทุกวันนี้ที่บ้านเราจะมีผักปลอดสารพิษกันแบบไม่ซ้ำ ทั้งเด็ดกินแบบสด ๆ และนำมาปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ผักคะน้า มะเขือ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักชี พริกหลากชนิด ผักกาดนานาพันธุ์ ที่เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเต็มพื้นที่เล็ก ๆ ที่คุณยายเนรมิตได้อย่างมืออาชีพ

 

 

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่