ดีเอสไอติดตามคดีพิเศษ นายทุนบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา

ภูเก็ต - เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ติดตามคดีพิเศษที่ 13/2566 คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากลมลา พบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโรงเรือน ยังมีการเปลี่ยนหลังคาจากกระเบื้องเป็นหลังคาเมทัลชีท บ่งชี้ว่าผู้บุกรุกยังคงเป็นนายทุน

ข่าวภูเก็ตประชาสัมพันธ์หน่วยงานรัฐ

วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม 2566, เวลา 11:50 น.

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.เสกสรร ศรีตุลาการ รองผู้อำนวยการกองปฎิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 13/2566 คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากลมลา จ.ภูเก็ต พร้อมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของ พ.ต.ต.จตุพร บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฎิบัติการคดีพิเศษภาค และเป็นไปตามนโยบายที่เร่งรัดป้องกันและปราบปรามการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเมืองท่องเที่ยวหลัก ของ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ตามการกำกับบริหารคดีของ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทำลายป่าไม้และที่ดินรัฐในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.ปิยะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และตระเวนสำรวจพื้นที่ที่มีการทำลายทรัพยากรป่าไม้และบุกรุกที่ดินรัฐในพื้นที่ที่จังหวัดภูเก็ต วัตถุประสงค์หลักให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงามมีทรัพยากรที่เหมาะสมสำหรับคนภูเก็ต และเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

คณะพนักงานสอบสวนได้เรียกพยาน ในคดีรุกขุดดินขายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา จ.ภูเก็ต สอบที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงวันที่ 26 พ.ค.

พ.ต.ท.เสกสรร  เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อรวบรวมพยานด้านต่าง ๆ และพบกับหินก้อนใหญ่ขวางทางขึ้นแหล่งขุดดินขาย ก่อนที่จะรับเป็นคดีพิเศษและพบว่ามีการเปลี่ยนหลังคาสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งยังมีสภาพใหม่ด้วย

ทั้งนี้การลงพื้นที่ของคณะพนักงานสอบสวนยังเรียกผู้ดำเนินการในการขอออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลาและเป็นผู้ครอบครองก้นสร้างทำลายป่าและปลูกยางพารามาสอบในฐานะพยาน นอกจากนั้นยังพบว่าพื้นที่ที่มีการขุดดินขายปัจจุบันถูกก้อนหินขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องจักรกลหนักยกมาวางปิดทางขึ้น และด้านล่างมีการก่อสร้างผนังหนาหลายสิบเซนติเมตร ความสูงประมาณ 3 เมตรปิดกั้นระหว่างถนนกับพื้นที่ที่มีการบุกรุกหวังเพื่อป้องกันการเลื่อนไหลของดิน และยังพบว่ามีการเลื่อนไหลของดินจากหน้าผาสูงชันเป็นช่วง ๆ

นอกจากนั้นยังพบว่าสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโรงเรือน ยังมีการเปลี่ยนหลังคาจากกระเบื้องเป็นหลังคาเมทัลชีท ซึ่งเป็นตัวบงชี้ว่าผู้กระทำความผิดบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลายังคงเป็นนายทุน

สำหรับเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ติดพฤติกรรมการทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้หน้าดินพื้นที่สูงชันในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลามาต่อเนื่อง ส่วนเป้าหมายที่มีการเปิดหน้าดินเพื่อต้องการมีถนนตัดผ่านไปยังตำบลเกาะแก้วเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดิน เนื่องจากบนเทือกเขากมลาในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับป่าด้วยนายทุนแล้วหลายแปลงและสภาพปัจจุบันนี้ที่ดินในจังหวัดภูเก็ตมีการปรับราคาขึ้นสูงกว่าในอดีตหลายเท่าส่งผลให้นายทุนบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าและป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น

- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่