ชาวบ้านร้องทำแท้งโรงชำแหละหมูซีพี ด้านซีพียืนยันโรงงานได้มาตรฐาน เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ภูเก็ต – ชาวบ้านเรียกร้องให้หยุดการดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการชำแหละ ตัดแต่งเนื้อสุกร ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในประเภทโรงงานจำพวกที่ 3 ภายในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลไม้ขาว เนื่องจากเกรงว่าโรงงานดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ในขณะที่ตัวแทนซีพีเอฟยืนยันหนักแน่นว่าโรงงานได้มาตรฐานอุตสาหกรรม และพร้อมชี้แจงในรายละเอียดวันพฤหัสบดีนี้

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันอังคาร ที่ 26 มิถุนายน 2561, เวลา 19:20 น.

ชาวบ้าน อายุ 50 ปี รายหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) เกิดและโตที่บ้านด่านหยุด หรือที่ชาวบ้านบางรายเรียกกันว่าบ้านด่านหยิด หมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หนึ่งในกลุ่มผู้คัดค้านกล่าวกับ ข่าวภูเก็ต ถึงกรณีเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐและซีพีเอฟ ยุติการดำเนินการก่อสร้างโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกรในพื้นที่หมู่ 3 ต.ไม้ขาว ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีความกังวลเรื่องของสุขอนามัย น้ำเสีย ฝุ่นละออง กลิ่น สิ่งปฏิกูล และสภาพชุมชนที่ต้องการให้อยู่แบบธรรมชาติ ไม่มีโรงงานใด ๆ ในพื้นที่

“ไม้ขาวเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมใดมาตั้งทั้งสิ้น โดยเฉพาะโรงชำแหละเนื้อหมู ซึ่งทางชาวบ้านมั่นใจว่าโรงงานดังกล่าวจะต้องส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง หรือของเสียจากการชำระล้างภายในโรงงาน”

“ที่ดินบริเวณโรงงานดังกล่าวล้อมรอบไปด้วยที่ดินของชาวบ้าน รวมถึงแนวเขตของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต สมควรจะอนุรักษ์ในส่วนของธรรมชาติเอาไว้ เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวขจีแล้ว ยังสามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนได้ในอนาคต” ชาวบ้าน กล่าว

“ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ไปทำงานที่อื่นสุดท้ายก็ต้องกลับมาที่บ้านเกิด มาพัฒนาสวนยางให้กลายเป็นบังกะโลเล็ก ๆ ไว้บริการนักท่องเที่ยวและลูกค้าที่มีความรักธรรมชาติได้เข้ามาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ หากว่ามีโรงงานมาตั้งชาวบ้านก็จะไม่สามารถทำธุรกิจเล็ก ๆ ในครัวเรือนประเภทนี้ได้ เพราะหากลูกค้าทราบว่าบริเวณใกล้เคียงมีโรงงานชำแหละเขาก็คงไม่เข้าพัก และลูกหลานเราจะกลับมาทำธุรกิจที่บ้านของตนเองได้อย่างไร คงต้องเป็นลูกจ้างคนอื่นเข้าที่ต่างจังหวัดต่อไป” เขากล่าว

ด้านนายเชาว์ เรืองสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กิจการสุกรภาคใต้เขต 3 และรองประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ชี้แจงกับ ข่าวภูเก็ต ว่า โรงงานชำแหละเนื้อสุกรแห่งนี้เป็นโรงงานที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ชี้แจงให้ชาวบ้านได้เข้าใจในวันที่ 28 มิ.ย. นี้

“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รับรองว่าโรงงานนี้ไม่สร้างปัญหาให้ชุมชนอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสร้างปัญหาให้ชุมชน พวกเราอยู่ไม่ได้ พนักงานก็ทำงานกันไม่ได้” นายเชาว์ กล่าว

“โรงงานจะเป็นแบบปิดตามนโยบายอาหารปลอดภัย ภายในมีระบบเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหรือเสียงจะไม่ออกมาภายนอก เพราะหากไม่ได้มาตรฐานเราก็ไม่สามารถผลิต “อาหารปลอดภัย” ได้” เขายืนยัน

นายเชาว์อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า บริษัทมีฟาร์มเลี้ยงสุกรที่จังหวัดกระบี่ นำเข้าโรงฆ่าสัตว์ของเทศบาลในจังหวัดพังงา ก่อนจะนำชิ้นส่วนทั้งหมดขนส่งที่ความเย็น -4 องศามายังโรงงานที่จังหวัดภูเก็ต โดยจะไม่มีการทิ้งชิ้นส่วนใด ๆ สำหรับน้ำจากการชำระล้างก็จะมีการบำบัดก่อนนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ภายในบริเวณที่ดินกว่า 40 ไร่ ของบริษัท

“ชิ้นส่วนทุกอย่างเราขายได้หมด กระดูกเราไม่ทิ้ง ส่วนน้ำที่ใช้ชะล้างก็จะถูกส่งเข้ากระบวนการบำบัดเพื่อนำมาใช้ภายในโรงงาน เรามีที่ดินกว่า 40 ไร่ ใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างแค่ประมาณ 1,500 ตร.ม. เรายังมีพื้นที่ให้รดน้ำอีกมากมาย จะไม่มีการปล่อยทิ้งให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ” นายเชาว์ กล่าว

ในเรื่องนี้ชาวบ้านด่านหยุดกล่าวว่า ชาวบ้านยังไม่ปักใจเชื่อในข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต

“เราทราบข้อมูลที่ว่าพื้นที่โรงงานเป็นเพียงส่วนน้อยของที่ดินมากกว่า 40 ไร่ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากทางบริษัทมีกำไรจะไม่ขยายโรงงาน และหากมีเจ้าแรกสามารถตั้งโรงงานได้ เจ้าของกิจการอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แล้วความเป็นอยู่ของพวกเราและลูกหลานในอนาคตจะเป็นอย่างไร”

ด้านนายเชาว์ เน้นย้ำว่าทางบริษัทปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน รวมทั้งการจัดทำประชาคมที่ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. ปีพ.ศ. 2560 โดยในขณะนั้นก็ได้แจ้งกับชาวบ้านไปแล้วว่า ทางบริษัทจะเปลี่ยนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 ให้เป็นโรงชำแหละเนื้อสุกร และชาวบ้านก็เข้าใจและเห็นด้วย

“ทางบริษัทตระหนักถึงความเดือดร้อนของชุมชนรอบข้าง จึงได้มีแนวคิดเปลี่ยนมาเป็นโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกรแทน ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยกว่า” เขากล่าว

“เราทำประชาคมหมู่บ้านไปเมื่อปีที่ผ่านมา ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 3 ต.ไม้ขาว พร้อมชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับที่ดินและการก่อสร้างโรงงานตัดแต่งและแปรรูปสุกรไปแล้ว แต่มีชาวบ้านบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมประชุมทำประชาคม ยังมีข้อสงสัยอยากให้ทางบริษัทชี้แจงเพิ่มเติมในบางเรื่อง” นายเชาว์กล่าวเพิ่มเติม

ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวของชาวบ้านที่ว่า “ชาวบ้านหมู่ 3 รวมถึงชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับโรงงานไม่เคยรับรู้เรื่องการทำประชาคมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงกระชี้แจงในวันที่ 28 นี้ด้วยเช่นกัน ผู้นำชุมชนยังไม่ได้ประกาศให้รับทราบแต่อย่างใด สำหรับประกาศในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการพิจารณาโรงงาน ผมก็ได้ไปพบโดยบังเอิญขณะไปติดต่อธุระที่อำเภอถลาง”

ภายหลังจากทราบเรื่อง ชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือต่ออบต.ไม้ขาว, อำเภอถลาง, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ดำรงธรรม เพื่อขอคัดค้านการสร้างโรงงานดังกล่าว 

"ทราบดีว่าพลังชาวบ้านอย่างเราคงไม่สามารถคัดค้านในทางกฎหมายได้ แต่อยากให้ทั้งภาครัฐและทางบริษัทเห็นใจ พวกเราทนกับกลิ่นเหม็นมาหลายสิบปี เราไม่อยากจะทนอีกต่อไป" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเชาว์และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมชี้แจงในวันที่ 28 มิ.ย. นี้ เวลา 14.00 น. ที่ ห้องประชุมศาลาประชาคมหมู่บ้าน

“กรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนนั้น ทางเราพร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียดกันอีกครั้ง ซึ่งในวันที่ 28 มิ.ย. นี้ เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ตและผู้เกี่ยวข้องก็จะมาชี้แจงและตอบคำถามให้คลายความสงสัย เนื่องจากตอนนี้อาจจะมีบางส่วนที่เข้าใจคลาดเคลื่อน” นายเชาว์ กล่าว

 

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่