กีรติกับก้าวที่ไกลกว่า ความประทับใจที่ได้ให้กำลังใจเพื่อนนักวิ่งและรับมันเมื่อหมดแรง

ก้าวที่ไกลกว่า : ความประทับใจที่ได้ฝึกสมาธิ อยู่กับตัวเอง ได้ให้กำลังใจเพื่อนนักวิ่ง และได้รับกำลังใจเมื่อหมดแรง จากการเริ่มต้นเส้นทางการวิ่งในปี 2555 และปัจจุบันได้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 50 รายการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ณัฏฐา เทพบำรุง

วันจันทร์ ที่ 10 เมษายน 2566, เวลา 14:00 น.

กีรติ เจริญวัฒนชัย หรือคุณติ อายุ 43 ปี เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะทายาทร้านกิตติก๋วยเตี๋ยวเป็ด จากสูตรต้นตำรับตำนานความอร่อยยาวนานมากกว่า 60 ปี เปิดสาขาแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2499 ที่กรุงเทพมหานคร และความอร่อยก็ได้แผ่ขยายมาถึงภูเก็ตเป็นสาขาที่ 4 ซึ่งสาขาแรกของเกาะอยู่ที่ถนนเยาวราช สามกอง

แต่ลูกค้าต่างก็รู้ได้ไม่ยากเลยว่าผู้ชายคนนี้ไม่เพียงแต่มีพรสวรรค์ในการทำบะหมี่สูตรเจ้าตำรับเท่านั้น เขายังเป็นนักกีฬาที่พิชิตเส้นทางวิ่งและสนามเทรลมามากมาย หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมในสนามอัลตร้ามาราธอน

และเมื่อต้นเดือนนี้เองคุณติเข้าร่วมและจบการแข่งขันสนาม Phuket 100K Ultra Marathon 2023 ซึ่งเป็นการวิ่งบนถนนระยะทาง 100 กิโลเมตร จัดขึ้นที่ไม้ขาว โดยโซโลเข้าเส้นชัยได้ด้วยเวลา 14 ชั่วโมง 6 นาที เป็นอันดับที่ 46 ในประเภทชาย และอันดับที่ 57 ของนักกีฬาอุลตร้าทั้งหมด 147 คน

คุณติเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน เขาเกิดมาพร้อมกับอาการอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อแขนส่วนบน หรือ Erb ซึ่งทำให้แขนขวาของเขาเป็นอัมพาต โดยคุณติแรกคลอดเป็นเด็กตัวใหญ่ที่มีน้ำหนักถึง 4.7 กิโลกรัม อาการของเขาส่งผลกับชีวิตในวัยเด็ก และเมื่อจบการศึกษาเขาต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากกว่า 100 กิโลกรัม แต่สิ่งนั้นมันกำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อคุณติเข้าสู่การลดน้ำหนักและกลายเป็นนักกีฬาในวันนี้

เขาเริ่มต้นเส้นทางการวิ่งในปี 2555 และปัจจุบันได้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 50 รายการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การแข่งขันสนามล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง?

สนามนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ 4 เส้นทาง ได้แก่ เขาใหญ่ (นครราชสีมา) เชียงใหม่ นครปฐม และภูเก็ต และเป็นครั้งแรกที่จัดการแข่งขันในจังหวัดภูเก็ต ผมวิ่งเข้าเส้นชัยคนเดียว (เพราะไม่ได้ลงวิ่งประเภททีม) ด้วยเวลา 14 ชั่วโมง 6 นาที โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมวิ่งประมาณ 300 คน (รวมถึงการแข่งขันในระยะทาง 60 กม. ด้วย)

โดยในแต่ละประเภทจะมีเวลาคัตออฟ และสำหรับคัตออฟหรือการจำกัดเวลาของระยะ 100 กม. ก็คือ 18 ชั่วโมง นับเป็นการแข่งขันที่ดีอีกหนึ่งรายการ วันรุ่งขึ้นหลังจากการวิ่ง ผมไม่ได้รับบาดเจ็บเลย และยังสามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะการฝึกฝนที่ดีก่อนการแข่งขันช่วยผมได้มากในเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว ผมตั้งเป้าที่จะเข้าเส้นชัยภายใน 12 ชั่วโมง เพราะอยากจะท้าทายตัวเอง และจากการฝึกฝนที่ผ่านมา ผมประเมินว่า 12 ชั่วโมงในการจบการแข่งขันนั้นน่าจะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด ผมไม่ได้ลงแข่งวิ่งอัล ตร้าเลยเป็นเวลากว่าสามปี และนี่คือการลงแข่งขันครั้งแรก

ฝึกซ้อมสำหรับการแข่งขันอย่างไร?

ก่อนลงแข่งจะมีการซ้อมออนไลน์กับหมอณิ หรือโค้ช Nini เธอเป็นนักไตรกีฬาอันดับต้น ๆ ของประเทศ สำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากเมืองเลสเตอร์ (สหราชอาณาจักร) เธอเป็นนักกีฬาอยู่พักหนึ่งก่อนจะกลับไปทำงานในสายอาชีพของเธอในช่วงโควิด

โค้ชให้โปรแกรมการฝึกมาและผมก็ส่งผลลัพธ์กลับไปให้เธอ ตารางงานของเธอค่อนข้างท้าทายแต่ก็ยืดหยุ่นได้ สำหรับการวิ่งแบบอัลตร้ารันนั้น เรามักจะฝึกกันแค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น เราเน้นความอึด ไม่เน้นความเร็ว ปกติผมจะฝึกที่บางมะรวน (ตำบลศรีสุนทร) หนึ่งรอบจะมีระยะน้อยกว่าหนึ่งกิโลเมตร และผมก็วิ่งต่อเนื่องโดยไม่นับรอบ เริ่มต้นด้วยการวิ่งช้า ๆ และเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อให้มีความทนทาน ต้องขอบคุณประสบการณ์การวิ่งเทรลสนามวิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้รู้ว่าการวิ่งประเภทนี้ [อัลตร้ามาราธอนระยะ 100 กม. บนถนน] จะเน้นความอดทน ที่ต้องใช้ความสม่ำเสมอในขณะที่ต้องหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บขณะวิ่ง

ชอบการวิ่งประเภทไหนมากที่สุด?

ผมชอบวิ่งเทรลมาก ผมมาจากกรุงเทพฯและอยู่ท่ามกลางตึกคอนกรีตและมลพิษ ผมจึงสนุกกับการวิ่งเทรลท่ามกลางธรรมชาติ โดยเฉพาะการวิ่งตอนกลางคืนต่อเนื่องจนถึงเช้าตรู่ที่ผมจะได้กลิ่นน้ำค้างและควันจากชาวบ้านที่ลุกมาทำอาหารเช้า ก่อนหน้านี้ผมเพิ่งวิ่งผ่านเส้นทางน้ำตกโตนไทร [ใกล้ รพ.ถลาง] ผมได้กลิ่นไม้ไหม้จากชาวบ้าน ได้ยินเสียงชะนี และเห็นหมอกบนภูเขาหลังคืนฝนตกด้วย

ความบกพร่องทางกายเป็นอุปสรรคต่อการวิ่งเทรลของคุณหรือไม่?

ผมมีแขนขวาที่พิการตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นการรับรู้ของผมก็คือผมมีแขนที่ใช้การได้เพียงข้างเดียวมาตลอดชีวิต แต่มันก็สร้างปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความไม่สมดุล สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาไม่เฉพาะขณะวิ่ง แต่ยังรวมถึงการเข้ายิมด้วย เมื่อผมต้องการทำท่าแพลงก์ ผมทำได้แต่แขนขวาไม่สามารถอยู่กับที่ได้นานเท่ากับแขนซ้าย และสำหรับการฝึกยกน้ำหนัก ผมยังต้องฝึกให้สมดุลด้วยการยกน้ำหนักที่เท่ากันสำหรับแขนทั้งสองข้าง ซึ่งหมายความว่าผมไม่สามารถยกน้ำหนักที่หนักเกินไปสำหรับแขนขวาได้ การยืดกล้ามเนื้อบางอย่างก็ยากเช่นกัน เมื่อต้องใช้แขนขวาในการเคลื่อนไหว

การวิ่งเทรลสนามใดที่น่าประทับใจที่สุด?

ผมชอบทุกสนาม เพราะทุกเส้นทางมีความน่าประทับใจในแบบของตัวเอง แต่จะขอบอกว่าชอบโป่งแยงเทรล ‘zero edition’ ที่เชียงใหม่ที่สุด เพราะมันเป็นอัลตร้าเทรลครั้งแรกในชีวิต ระยะทางเพียง 66 กม. ไม่ยาวเกินไป สิ่งอำนวยความสะดวก การจัดการ อาหารและเครื่องดื่มดีมาก ทางเป็นดินลูกรังวิ่งได้สบาย ๆ อีกทั้งมีนักวิ่งไม่มากนัก ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นมีนักวิ่งทั้งหมด 63 คน และนักวิ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนกัน

ชอบอะไรในการวิ่งมากที่สุด?

ผมมีหลายช่วงเวลาที่ชื่นชอบ เมื่อผมวิ่งแล้วได้เห็นคนอื่นหยุด ผมก็สามารถให้กำลังใจพวกเขาได้ เมื่อผมหมดแรง คนอื่นก็ให้กำลังใจเช่นกัน มันอาจจะดูน่าเบื่อสำหรับบางคน แต่ผมสามารถอยู่คนเดียวได้และมีสมาธิมาก ๆ ตลอดการวิ่งเทรล ผมต้องจดจ่อกับเส้นทางและทุกย่างก้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการล้ม มันเหมือนกับการทำสมาธิ ก็เหมือนกับคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องทางสายกลาง ถ้าผมวิ่งมากเกินไป ก็จะได้รับบาดเจ็บ และถ้าช้าเกินไปผมก็จะวิ่งไม่จบทันเวลา การวิ่งบนทางสายกลางไม่เร็วไม่ช้าเไปเกินไปพร้อมกับฟังเสียงหายใจตัวเอง สมองปลอดโปร่งมีสมาธิมาก ขาของผมมันก็ขยับไปได้ด้วยตัวมันเอง

ข่าวภูเก็ต: แปล

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่