กองปราบตรวจค้น 17 บริษัทนอมินีรัสเซีย รับทำเอกสารเท็จในภูเก็ต คาดเอี่ยวขบวนการฟอกเงิน

ภูเก็ต - ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ตรวจค้น 17 บริษัทนอมินีรัสเซีย รับทำเอกสารเท็จให้ชาวรัสเซียในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต คาดเอี่ยวขบวนการฟอกเงิน

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 4 เมษายน 2567, เวลา 14:12 น.

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป., พ.ต.ท.ฤทธิชัย ชุมช่วย, พ.ต.ท.หัตถพล ทองคำ, พ.ต.ท.หัตถพร ทองคำ และ พ.ต.ท.ณัติรุจน์ วัฒนะฉัตรรัตน์ รอง ผกก.5 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ มีมุสิก สว.กก.5บก.ป. , พ.ต.ต.ธีระพงษ์ คงเขียว สว.กก. บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้ร่วมกันตรวจค้น ที่ตั้งของบริษัททต้องสงสัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของคนต่างชาติ ในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 8 จุด รวม 17 บริษัท ตามหมายค้นของ ศาลอาญา ที่ 311-318/2567 ลงวันที่ 1 เมษายน 2567

พฤติการณ์ก่อนหน้าที่จะมีการลงตรวจค้น ได้มีคนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หลอกให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมโทรศัพท์ จากนั้นได้ดูดเงินจากบัญชีของผู้เสียหายโอนไปยังบัญชีของคนร้ายรวมกว่าห้าแสนบาท พบว่าคนร้ายได้โอนเงินไปยังบัญชีต้องสงสัยชายชาวรัสเซียคนหนึ่ง ก่อนจะพบว่าชายชาวรัสเซียดังกล่าวได้ทำรายการถอนเงินสดออกจากบัญชีผ่านธนาคารในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในเวลาต่อเนื่องกัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้รับมอบหมายจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนร้าย พบว่าการทำธุรกรรมของชายชาวรัสเซียคนดังกล่าวพบว่า มีพฤติการณ์รับโอนเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี จากกระเป๋าดิจิตอลที่ไม่มีการยืนยันตัวตน (non-custodial wallet) จากนั้นจะมีการขายเหรียญจำนวนมากโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารในประเทศไทยของตน และถอนเงินที่ได้ออกเป็นเงินสดโดยทันที ในช่วงระหว่างวันที่ 7 ก.ค.66 - 19 พ.ย.66 พบว่าชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว ได้มีการถอนเงินสดผ่านเคาท์เตอร์ธนาคาร และตู้ ATM จากบัญชีธนาคาร จำนวน 3 บัญชี รวมเป็นเงินประมาณ 186 ล้านบาท อย่างผิดปกติ เชื่อได้ว่าเป็นรูปแบบการฟอกเงินอย่างหนึ่ง จากตรวจสอบหลักฐานการเปิดบัญชีพบว่า ชายชาวรัสเซียคนดังกล่าว ได้แสดงหลักฐานใบอนุญาตทำงานยืนยันว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าว ไม่มีการดำเนินกิจการอยู่จริง น่าเชื่อว่าได้จดทะเบียนขึ้นมาเพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ในต่อในราชการอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (VISA) ให้กับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ โดยบริษัทดังกล่าวมีกรรมการ และผู้ถือหุ้นเป็นผู้หญิงไทย จำนวน 2 คน และหญิงชาวรัสเซีย จำนวน 1 คน

นอกจากนั้นยังพบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ ของบริษัทอื่นอีกรวม ทั้งสิ้น 38 บริษัท เชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน 2.ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้าง หุ้นส่วนหรือบริษัทจํากัด หรือนิติบุคคลใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย (นอมินี)

ล่าสุดวันที่ 3 เม.ย. 67 หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญาขอออกหมายค้น เพื่อเข้าตรวจค้นพบที่ตั้งของบริษัทต้องสงสัย ในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 8 จุด รวม 17 บริษัท

ผลการตรวจค้นพบ ผู้หญิงชาวไทย จำนวน 2 คน รับว่าได้จัดตั้งบริษัทรับจ้างจดทะเบียนบริษัท, รับดำเนินการขอใบอนุญาตทำงาน, ดำเนินการขอ VISA ให้กับชาวต่างชาติ และยื่นขอใบอนุญาตต่างๆให้กับชาวต่างชาติ โดยมีการจัดตั้งบริษัทที่ไม่ได้มีการดำเนินกิจการจริงขึ้นมา เพื่อใช้ในการสร้างเอกสารเท็จเพื่อยื่นขออนุญาตต่าง ๆ ให้กับชาวต่างชาติจริง
พบบริเวณชั้นสองของอาคารสำนักงานมีการจัดวางอุปกรณ์คล้ายสำนักงานไว้สำหรับจัดฉากเพื่อถ่ายภาพการทำงานเพื่อใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตต่างๆให้กับชาวต่างชาติ จึงได้ตรวจยึด 1.คอมพิวเตอร์สำหรับจัดทำเอกสารเท็จ และจัดเก็บข้อมูลลูกค้าชาวต่างชาติ จำนวน 2 เครื่อง , 2.ตราประทับบริษัทต่าง ๆ กว่า 50 บริษัท, 3.เอกสารต่าง ๆ จำนวนประมาณ 500 แผ่น ซึ่งจะได้ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการตามกฎหมายกับคนไทยและชาวต่างชาติที่ร่วมกันกระทำความผิดต่อไป

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัย การกระทำของบุคคลและนิติบุคล ซึ่งช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวโดยการสร้างเอกสารเท็จ และแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถมีเอกสารที่ใช้ในการเปิดบัญชีธนาคารไทยได้นั้น ย่อมอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิตอล ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านกระบวนการสำแดงตามปกติ และสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ จึงเป็นช่องทางสำหรับคนร้ายในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือกลุ่มผู้กระทำผิดอย่างอื่นใช้ในการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ก่อนนำไปลงทุนทำธุรกิจต่าง ๆ แข่งขันและแย่งงานคนไทย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่