กองทัพอากาศนำร่องขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 เวลา 13.30 น. กองทัพอากาศ จัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ C-130 พร้อมกำลังพล สนับสนุนโครงการนำร่อง ’ทัพฟ้าช่วยไทยต้านภัยโควิด-19 ขนข้าวชาวนาแลกปลาชาวเล’ เพื่อช่วยเหลือชาวเลที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนักให้เร็วที่สุด ด้วยการขนส่งข้าวสารจากจังหวัดยโสธร มาแลกเปลี่ยนปลาแห้งที่จังหวัดภูเก็ต และนำปลาแห้งกลับไปส่งที่จังหวัดยโสธร เริ่มดำเนินการเป็นโครงการนำร่องในการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ที่จะสร้างให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

เอกภพ ทองทับ

วันจันทร์ ที่ 20 เมษายน 2563, เวลา 15:40 น.

โดยมี พลอากาศโท ตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือน กองทัพอากาศ, นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมกัน ณ อาคารเอ็กซ์-เทอร์มินอล ท่าอากาศยานภูเก็ต จากนั้นเดินทางรับมอบข้าวสารและส่งมอบปลา ณ ลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดพังงา เข้าร่วมในการส่งสินค้าเกษตร สับปะรด จำนวน 3.2 ตัน ในโครงการฯนี้ด้วย

พลอากาศโท ตรีพล กล่าวว่า กองทัพอากาศ ได้รับการร้องขอจากมูลนิธิชุมชนไท ในโครงการแลกเปลี่ยนอาหารแห้งบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเลราไวย์ ที่ขายอาหารทะเลไม่ได้ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ทางพลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) จึงได้จัดอากาศยานพร้อมกำลังพลให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด เพื่อขนข้าวหอมมะลิจากยโสธรแลกเปลี่ยนกับปลาตากแห้งของภูเก็ต เป็นโครงการนำร่องจุดประกายให้ชาวไทยที่มีสินค้าเกษตรนำแนวคิดนี้ไปดำเนินการต่อในภาวะนี้

นายภัคพงศ์ กล่าวว่า โครงการฯนี้เกิดขึ้นจากปัญหาที่ชาวเลชุมชนราไวย์ ยังคงสามารถออกเรือหาปลาแต่ขาดพื้นที่ทางการค้า มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เห็นปัญหาร่วมกันของชาวเลราไวย์ จึงได้หารือร่วมก้บผู้นำชุมชนชาวเลทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น

"โดยชาวเลหลายพื้นที่ได้รวมกลุ่มในนามเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระดมจัดทำปลาแห้งประมาณ 1,000 กิโลกรัม เน้นปลาพันธ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาทูแดง ปลาทูแขก ปลาข้างเหลือง  เป็นต้น เพื่อนำไปทำเป็นปลาเค็มตากแห้ง ถนอมอาหารสามารถเก็บไว้กินได้นาน 

และจังหวัดยโสธร เครือข่ายชาวนาภาคอีสาน สมาคมชาวยโสธร ได้เห็นความเดือดร้อนของชาวเลในพื้นที่ต่างๆในจ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และสตูล จึงประสานงานกันส่งมอบข้าวสาร จำนวน 9ตัน หรือ 9,000กิโลกรัมท(บริจาค 2 ตัน) ให้แก่เครือข่ายชาวเลอันดามัน เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเล ถือว่าเป็นการตั้งใจให้เป็นสายพานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกครั้ง เป็นเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมด้วยการนำทรัพยากรที่มีมาแลกกัน ตามหลัก P2P-People to People และ Producer to Producer ทำให้เกิดการแก้ปัญหาปากท้อง และได้เห็นว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำให้เราอยู่รอดแม้ในภาวะวิกฤตสังคมเองจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้" นายภัคพงศ์ กล่าว

นายภัคพงศ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการนี้เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลและภูเก็ต ในฐานะจังหวัดเจ้าภาพกลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัดจะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนแก่เครือข่ายชาวเลอันดามัน ด้วยการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการตลาดตามแนวทางดังกล่าวในกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยใช้แนวคิดนี้เป็นต้นแบบและสามารถใช้เป็นต้นแบบในภาวะวิกฤตอื่น ๆ ของประเทศได้ด้วย ทางจังหวัดภูเก็ตขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทางด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวเสริมว่า จังหวัดพังงาร่วมบูรณาการโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่และชาวประมงพื้นบ้าน โดยนำปลาตากแห้ง 500 กิโลกรัม แลกกับข้าวสาร 2 ตัน ของยโสธร ไปลงที่หมู่เกาะสุรินทร์ 1 ตัน และบ้านน้ำเค็ม 1 ตัน สับปะรดพันธุ์ภูงา 3,200 กิโลกรัม หรือ 3.2 ตัน ส่งไปอุบลฯ 2,700 กิโลกรัม และส่งที่กทม.อีก 500 กิโลกรัม

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่