9 องค์กรเอกชนภูเก็ต เสนอแนวทางจัดการโควิด-19 ขจัดความล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ

ภูเก็ต – คณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ เพื่อเตรียมพร้อมและรับมือการระบาดในระยะที่สามอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นแล้วว่าระบบการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบันเปราะบางและไร้ประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้สกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเด็ดขาดอย่างน้อย 30 วัน

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 17 มีนาคม 2563, เวลา 11:55 น.

ตัวแทน 9 องค์กรเอกชนภูเก็ต เสนอแนวทางจัดการโควิด-19 ตั้งโต๊ะแถลงข่าว 16 มี.ค. 63 ณ เลมอนกราส ไลม์ไลท์ อเวนิว ภูเก็ต

ตัวแทน 9 องค์กรเอกชนภูเก็ต เสนอแนวทางจัดการโควิด-19 ตั้งโต๊ะแถลงข่าว 16 มี.ค. 63 ณ เลมอนกราส ไลม์ไลท์ อเวนิว ภูเก็ต

คณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 9 องค์กรหลักอันได้แก่ หอการค้าจังหวัดภูเก็ต, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต, สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง, สมาคมโรงแรมหาดกะตะกะรน และ บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์พร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าว สรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และการติดตามข้อเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจากรัฐบาล

แถลงการณ์ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ขยายวงสู่หลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตอย่างรุนแรง ซึ่งทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ประเมินตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมรวมกว่า 54,200 ล้านบาท (อ่านเพิ่มเติม คลิก)

ในส่วนของแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 9 องค์กรณ์เอกชนภูเก็ตเห็นว่า มติของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 มี.ค. เรื่องการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้น นับเป็นเรื่องที่ดีและแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ ในการออกมาตรการที่ตอบสนอง ทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเด็นปัญหาสำคัญคือ “ความรวดเร็ว” ในการพิจารณาอนุมัติการใช้มาตรการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม เพราะทุกหน่วยงานมักอ้างเรื่องกระบวนการและงานเอกสาร ซึ่งอาจจะไม่สามารถนำมาตรการที่ดีเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งการจัดการดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย และได้สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างมากให้กับประเทศมาโดยตลอด แต่จากการบริหารราชการแผ่นดินในระบบบริหารราชการปัจจุบัน มิได้ทำให้ภูเก็ตมีภูมิคุ้มกันจากข้อแทรกแซงจากปัจจัยภายนอกแต่อย่างใด

“การระบาดของ Covid 19 แสดงให้เห็นว่า ระบบการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน มีความเปราะบางและไร้กลไกการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน ในการที่สามารถจะสนับสนุนกิจกรรมสำคัญตามความจำเป็นได้ ทำให้มาตรการในการควบคุมการระบาดในจังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ และงบประมาณในการสนับสนุนปฏิบัติการณ์หลายอย่างเป็นการระดมทุนมาจากภาคเอกชน เพราะไม่สามารถรองบประมาณจากภาครัฐได้” แถลงการณ์ระบุ

“ความสับสนในการปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2563 โดยได้ระบุท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงวิธีการปฏิบัติ รวมไปถึงวิธีในการควบคุมให้นักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายได้ทำการกักกันตัว รวมถึงระบบติดตามตัวที่ก่อให้เกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพในการติดตามและทำได้จริง โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของการเริ่มบังคับใช้ประกาศที่ทุกวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสถานที่กักตัว 14 วันของนักท่องเที่ยวที่มาจาก 4 กลุ่มประเทศร้ายแรง แม้ทางภาคเอกชนได้ทำหนังสือขอความชัดเจนไป แต่ก็ยังไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใดจากกระทรวงสาธารณสุข”

“ความไม่มีเสถียรภาพในการทำงานและการขาดการบูรณาการของหน่วยงานในกระบวนการคัดกรองที่ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยเฉพาะการมีประกาศจากหลายกรม หลายกระทรวงที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้ฝ่ายปฏิบัติงานสับสน และในที่สุดคือไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้”
นอกจากนี้ทางคณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต ยังได้กล่าวถึงการติดตั้งและใช้งานเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermoscan) ซึ่งควรจะมีติดตั้งประจำจุดที่ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต และจุดขึ้นลงของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางเรือให้ทั่วถึง แต่พบว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้กระบวนการคัดกรองจากเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแบบมือถือ ซึ่งลดระดับความแม่นยำ และจำเป็นต้องใช้กำลังคนสูงมาก และไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุมัติจัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เพื่อนำมาใช้ ณ ท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต

ข้อเสนอจากภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต

“ทางองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ตจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต (Phuket COVID -19 Crisis Management Command Center) โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานให้สามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเข้าสู่การระบาดในระยะที่สาม และสามารถเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวที่สั่งการ ควบคุมและกำกับ ดูแลมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างในการรองรับการระบาดในฉากทัศน์ (scenario) ที่มีความรุนแรงสูงสุด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่เหตุการณ์จริง

ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 100 ล้านบาทเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเน้นไปที่การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น การสร้างระบบเทคโนโลยีในการค้นหา และติดตามการกักกันตัวในที่พำนัก รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่กรณีมีความจำเป็นต้องใช้เป็นโรงพยาบาลสนามสำรองเป็นการล่วงหน้า และเป็นงบประมาณที่สามารถดำเนินงานสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ขอเสนอให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านการบริหารในภาวะวิกฤตมาเป็นประธานดำเนินงานศูนย์ ที่มิใช่ข้าราชการประจำทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพราะการดำเนินมาตรการที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จำกัดในการจัดการภูเก็ตในภาวะวิกฤตของทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต”

องค์กรเอกชนภูเก็ตเรียกร้องให้สกัดนักท่องเที่ยว จากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเด็ดขาด เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงกับการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว เพื่อสุขภาพโดยรวมของชาวภูเก็ต 

“แม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต แต่ในห้วงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างการสร้างภูเก็ตให้เป็นชุมชนที่แข็งแรง และพร้อมที่จะกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในระยะเวลาข้างหน้า หรือ การยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยว และปล่อยให้ประชาชนชาวภูเก็ตไปเสี่ยงกับการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว และทำให้สุขภาพโดยรวมของประชาชนเสื่อมลง ทางองค์กรเอกชนภูเก็ตขอยืนยันที่จะให้มีมาตรการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเด็ดขาดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยเน้นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และไม่จำกัดเฉพาะประเทศที่ได้รับการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดทอนโอกาสการแพร่ระบาดของ Covid 19 ในหมู่ประชาชนชาวภูเก็ต บนตรรกะว่า การยอมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะสั้นจากการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้ภูเก็ตสามารถกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลกได้ในเวลาอีกไม่นาน และมีข้อได้เปรียบมากกว่าการปล่อยให้จังหวัดภูเก็ตมีประชาชนชาวภูเก็ตติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ติดเชื้อมา อันจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว” แถลงการณ์ระบุ

7 มาตรการในการจัดการรับมือวิกฤติ Covid 19 จังหวัดภูเก็ต โดย คณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต

1. ศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉิน Covid 19 ประจำจังหวัดภูเก็ต (Phuket COVID -19 Crisis Management Command Center) โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ (ร่างคณะกรรมการศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินฯ ประกอบ)

2. ยกเลิกการเดินทางเข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 30 วัน และพิจารณาเพิ่มเติมจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแต่ละประเทศตามความจำเป็นและเหมาะสม

3. ดำเนินตามมาตรการการควบคุมและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ต ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเข้มงวด และมีการสนับสนุนการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อปพร. สาธารณสุข โดยมีมาตรฐานเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน

4. สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ให้ดำเนินการใช้งบฉุกเฉินในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับการคัดกรอง และรักษาผู้ป่วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

5. สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจและดิจิตัล ภูเก็ต เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาเทคโนโลยีสำหรับการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออก ทั้งจากสนามบิน ด่านท่าฉัตรชัยและท่าเรือ รวมทั้งเทคโนโลยีติดตามตัวกรณีผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง และกักกันพื้นที่

6. สั่งการให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดการฝึกอบรม อาสาสมัครสาธารณสุข อย่างเข้มข้นเพื่อ ช่วยงานโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ รวมทั้งการติดตามเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกักบริเวณในบ้านเรือน

7. ให้สมาคมผู้สื่อข่าวเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สสจ. โรงพยาบาล การท่าอากาศยาน เป็นต้น เพื่อประมวลและนำเสนอข่าวสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นทางการทุกวัน

 

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่