ยูเอ็นดีพีสนใจผลกระทบและฟื้นฟูหลังโควิด-19 ภูเก็ต เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่

ภูเก็ต - เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ นายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ประจำประเทศไทย และคณะ ในโอกาสศึกษาวิจัยผลกระทบการท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิดในจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต

เอกภพ ทองทับ

วันพฤหัสบดี ที่ 27 สิงหาคม 2563, เวลา 10:03 น.

ภาพ เอกภพ ทองทับ

ภาพ เอกภพ ทองทับ

นายเรอโนด์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีความสำคัญทางการท่องเที่ยว สิ่งที่เกิดขึ้นในภูเก็ตมีส่วนสำคัญที่ส่งผลในการแก้ปัญหาระดับประเทศ และเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นในประเทศ

"เหตุผลที่มาภูเก็ตคือต้องการทราบสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในภูเก็ต แนวทางการแก้ไขปัญหา ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อนำสู่การศึกษาพัฒนาข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และอนาคตของภูเก็ตด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งแนวทางใหม่ของภูเก็ตเป็นเช่นไร

ขณะที่ ทำการศึกษาผลกระทบโควิดของภาคการท่องเที่ยวอีกด้านที่เน้นย้ำคือการพัฒนาภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีเป้าหมาย เพื่อจะประยุกต์การพัฒนาสู่เป้าหมายในอนาคต ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มของการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นอย่างยั่งยืนระยะยาว

สาระสำคัญคือการพัฒนาที่มีส่วนร่วม ที่อยากให้ผลของนโยบายแก้ปัญหาการท่องเที่ยวสอดคล้องมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่วางไว้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งของหน่วยงานในจังหวัด ภาคเอกชน และร่วมมือฟังเสียงประชาชนในพื้นที่รวมทั้งแนวทางในอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดภูเก็ต

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยูเอ็นดีพีได้ลงนามความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย( ททท.) ร่วมพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยจากวิกฤตโควิดให้เกิดความยั่งยืนรองรับวิถีใหม่ ซึ่ง ททท. และยูเอ็นดีพี ร่วมกับสถาบันการศึกษาในประเทศไทย วิจัยผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวในไทยเปลี่ยนแปลงจากแมสทัวริสซึมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คำนึงถึงชุมชนมากขึ้น

การมาครั้งนี้ที่ภูเก็ตจึงสอดคล้องกับการลงนามความร่วมมือดังกล่าวในการที่จะทำอย่างไรจะสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทย เช่น เมดิคอลทัวริสซึม การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา เป็นต้น ซึ่ง การท่องเที่ยวแบบใหม่ต่างๆนี้ ได้มีการร่วมมือกับททท.อย่างใกล้ชิด

“ขอชื่นชมประเทศไทยที่สามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดีมาก รวมทั้งชื่นชมจังหวัดภูเก็ตในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง อาทิ ชาวเลราไวย์ ที่จังหวัดสนับสนุนให้ตู้อบปลา เครื่องตักปลาแก่ชาวเลราไวย์ได้ทำปลาแปรรูปส่งขายสร้างรายได้แก่ชุมชน รวมทั้งจังหวัดได้เร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ให้บริการที่ป่าตอง ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจการท่องเที่ยว” นายเรอโนด์ กล่าว

ทางด้าน รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางผู้แทนยูเอ็นดีพีให้ความสนใจจังหวัดภูเก็ต ที่ประสบความสำเร็จการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เพื่อนำไปใช้ทั่วโลก สนใจศึกษาผลกระทบโควิดกับภูเก็ต และการบริหารจัดการในอนาคตกับภูเก็ตโมเดล

"ในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนเรื่องภูเก็ตโมเดล ภาคธุรกิจอยากเปิดดำเนินการแต่ภาคประชาชนยังมีความกังวลในการกลับมาของโควิด ซึ่งทางจังหวัดต้องระดมมันสมองจากทุกภาคส่วนในแนวทางการปฏิบัติเมื่อเปิดเมืองให้ตกผลึกก่อนจากทุกภาคส่วนจึงจะนำไปปฏิบัติ" นายสุพจน์ กล่าว

“ที่ผ่านมา โมเดลในการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ของประเทศไทยประสบความสำเร็จทำให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จังหวัดภูเก็ตจะใช้โมเดลนี้ขับเคลื่อนกันต่อไป ทั้งนี้การประสบความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน”

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่