ไทย-เมียนมา หารือการท่องเที่ยวทางน้ำและการลงทุน มะริด-ระนอง-ภูเก็ต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ นาย อู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวเมียนมา

จุฑารัตน์ เปลรินทร์

วันเสาร์ ที่ 28 มกราคม 2560, เวลา 10:00 น.

นาย อู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวเมียนมา ภาพ ปชส ภก

นาย อู อ่อง เหมื้อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวเมียนมา ภาพ ปชส ภก

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ธุรกิจการค้า จากประเทศเมียนมาและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พังงา,ระนอง,กระบี่,ตรังและภูเก็ต) เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ระหว่างไทยและเมียนมา

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ตามที่นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมภาคเอกชนไทย เดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 11 -12 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา ด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยวาระสำคัญคือการเซ็น MOU ร่วมกัน จุดประสงค์ของการลงนาม MOU เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ร่วมกันพัฒนาทรัพยากร ผลักดันการท่องเที่ยวทางน้ำ และต่อยอดนโยบายสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการร่วมการพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลทางชายฝั่งอันดามันระหว่าง เมียนมา กับไทย ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เพื่อจะได้ต่อยอดธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องเช่นธุรกิจ เรือสำราญเรือยอชและเรือท่องเที่ยวอันจะเป็นการสร้างรายได้ให้อย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับทั้งสองประเทศ

หลังลงนาม MOU ไทยและเมียนมาเร่งจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อลงมือทำตามข้อตกลงได้ทันทีที่ให้เกิดผลงานในปี 2560 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง CLMVT (เมียนมา–ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม และ ASEAN) เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน two Country one Destination ให้มากขึ้น รวมถึงการดึงสื่อเอกชน เข้ามามีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งเมียนมาต้องการเน้นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มะริด- ระนอง – ภูเก็ต

ขณะที่ นาย อู อ่อง เหมื้อน กล่าวว่าจากการที่ไทยและเมียนมาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือนั้น ฝ่ายเมียนมาเสนอความร่วมมือด้านพัฒนาการท่องเที่ยวกับไทยเรื่องการส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวให้มีการเชื่อมโยง โดยอยากให้ไทยพิจารณาการส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั้งทางบกทางทะเลและทางอากาศโดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเกาะสอง-มะริด-กรุงเทพและเส้นทาง มะริด-ทวาย-กรุงเทพฯ ซึ่งสนามบินมะริดยังมีข้อจำกัดในการรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็ก

ด้านนายโชคชัย กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทยมีศักยภาพในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทางทะเล เพราะมีความพร้อมในทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงาม โดยเฉพาะทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญหรือเรือยอร์ชได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง และที่ภูเก็ตนี้ก็เป็นจุดที่มีเรือยอร์ชเข้ามาจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวด้วยเรือยอร์ช เพื่อสร้างแรงเหนี่ยวนำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น มารีน่า อู่ต่อเรือและซ่อมเรือ คลับเฮ้าส์ และโรงแรม โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าของอาเซียน ดังนั้นหากมีการร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมาจะทำให้การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันของทั้ง 2 ประเทศมีความเข้มแข็งและยั่งยืน

โดยขณะนี้รัฐบาลไทยและเมียนมาอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงเงื่อนไขข้อกฎหมายที่จำเป็นสำหรับกฎบัตรบังคับเรือสำราญ และการดำเนินธุรกิจเรือสำราญ รวมทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สามารถเอื้ออำนวยกับเรือสำราญ กฎของกรมศุลกากร สนับสนุนสถานที่ใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาเป็นท่าจอดรถ ตลอดจนมองหาภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถช่วยพัฒนาและนำไปสู่อุตสาหกรรมที่กว้างขวาง ที่สร้างงานให้คนท้องถิ่น และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในประเทศโดยตรง โดยเฉพาะได้ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวทางทะเลเพิ่มขึ้นและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในอนาคต

ทั้งนี้โอกาสการลงทุนในเมียนมามีสูง ผู้ประกอบการไทยจะมีความได้เปรียบในการลงทุนในเมียนมาภายใต้นโยบาย asian connect ของอาเซียนและรัฐบาลไทยและเมียนมาจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่สองประเทศ ทั้งนี้เมียนมายังขาดระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการบริหารจัดการในเมียนมาได้เป็นอย่างดี และผลของการเซ็น MOU และการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดตั้ง working group ที่มีภาคเอกชนของสองประเทศอยู่ในคณะทำงานด้วย และจะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งตัวแทนจากภาคเอกชนของไทย ยินดีให้ความร่วมมือและคำแนะนำต่อเมียนมา โดยไทยมองว่าเมียนมาสามารถเติบโตได้อีกมาก หากได้รับการสนับสนุนด้วยการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่เมียนมาเปิดรับความร่วมมือจากไทยอย่างเป็นมิตร และยินดีเรียนรู้จากประเทศไทย

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่