แพทย์ยืนยัน 'พาราเซตามอล' ยังลดไข้ได้ดี ไม่จำเป็นต้องกินคู่กับยาละลายเสมหะ

วันนี้ (9 ก.ค.) รศ.ดร. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อธิบายถึงกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์บทความที่ว่า “ยาพาราเซตามอล มีอันตราย กินเพียงไม่กี่เม็ด ก็อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ และไตได้อย่างรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยง และถ้าจำเป็นต้องกิน ให้กินคู่กับยาแนค NAC ยาละลายเสมหะ”

ข่าวภูเก็ต

วันอังคาร ที่ 9 กรกฎาคม 2562, เวลา 15:13 น.

ยาพาราเซตามอล ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องใช้อย่างถูกต้อง

ยาพาราเซตามอล ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องใช้อย่างถูกต้อง

ซึ่งในเรื่องนี้ อาจารย์เจษฎ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant ว่า ยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้าน ใช้ในการลดไข้และบรรเทาอาการปวด เป็นยาที่เข้าถึงได้ง่าย และจัดเป็นยาที่ไม่อันตราย และยังเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการลดไข้ เมื่อใช้อย่างถูกต้องและห้ามกินเกินขนาดที่กำหนด 

“ในการกินยา 1 ครั้ง ให้ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) เท่านั้น นั่นคือ ให้กินยาพาราเซตามอลได้ ครั้งละ 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน และ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยา (ไม่ใช่ว่ากินดัก กินกันไว้ก่อน แบบที่หลาย ๆ บ้านชอบทำ)” อาจารย์เจษฎ์ กล่าว “ในทางกลับกัน ถ้ากินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อ ติดต่อกันเป็นเวลานาน (ไม่ควรกินติดกันเกิน 5 วัน) อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง ยิ่งถ้ากินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการตับอักเสบมากขึ้น”

ส่วนยา NAC นั้น อาจารย์เจษฎ์ อธิบายว่า “ปรกติเป็นยาละลายเสมหะ ซึ่งมีราคาแพงกว่ายาพาราเซตามอลเยอะ และไม่ได้จำเป็นที่จะต้องกินควบคู่กับยาพาราเซตามอลเลย ถ้ากินยาพาราตามขนาดโดสที่กำหนด (แพทย์จะนำยา NAC จะใช้ ในกรณีที่พบคนไข้เกิดอาการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด และต้องทำการถอนพิษ)”

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Rama Channel ระบุในบทความ “พาราเซตามอล กินมากไปเสี่ยงทำลายตับ” ถึงปัญหาที่พบจากการใช้ยาพาราเซตามอล คือมีการใช้ยาพร่ำเพรื่อ รวมถึงมีการใช้ยาเกินขนาด และใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ ซึ่งในกรณีใช้ยาทั้งที่ไม่มีอาการ เช่น ในบางรายที่มีการกินยาดักไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ทั้งที่ยังไม่มีไข้เกิดขึ้น ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้

อาการของการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด จะแสดงใน 1-3 วัน มีทั้งหมด 3 ระยะ  ได้แก่

  • ระยะที่ 1 คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เหงื่อออก เป็นระยะสั้น ๆ โดยจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจไม่มีอาการ
  • ระยะที่ 2 หลังกินยาระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อเจาะเลือดจะพบว่าเอนไซม์ทรานซามิเนส (transaminase) เริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แสดงถึงการบาดเจ็บของตับ
  • ระยะที่ 3 หลังกินยาไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการตับอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารอีกครั้ง มีภาวะแทรกซ้อนเหมือนตับอักเสบทั่วไป หากรุนแรงอาจมีอาการสมองเสื่อมจากโรคตับ และเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เจษฎ์ กล่าวสรุปว่า “ยาพาราเซตามอล ยังเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีประโยชน์ครับ ถ้าจะหลีกเลี่ยงไปทำการเช็ดตัวแก้ไข้แทน ก็ทำได้นะ แต่ถ้าเลี่ยงไปกินยาพวกแอสไพริน ก็ให้ระวังด้วย ถ้าเกิดเป็นไข้อันเนื่องจากโรคไข้เลือดออก อันตรายถึงตายได้”

(อ่านบทความ “พาราเซตามอล กินมากไปเสี่ยงทำลายตับ” ทั้งหมด คลิก)

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่