อย.เตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาต้าน HIV ผ่านออนไลน์เด็ดขาด ผลข้างเคียงถึงตาย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผย อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนพบการขายยาต้านไวรัส HIV ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งอ้างเป็นยาต้านเชื้อไวรัส HIV ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบการแสดงข้อความเข้าข่ายเป็นการโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณยาควบคุมพิเศษและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อซื้อยาดังกล่าวมารับประทานเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากยาควบคุมพิเศษต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ข่าวภูเก็ต

วันอาทิตย์ ที่ 1 กันยายน 2562, เวลา 12:00 น.

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

จากการตรวจสอบเฟซบุ๊กชื่อ Mamieo Ritz พบการขายยาต้านไวรัส HIV พร้อมระบุข้อความ “ยาต้านไวรัส HIV พร้อมส่งค่ะ” ขายผ่านทาง Facebook หลายครั้ง ซึ่งภาพที่ปรากฏเป็นยาต้านไวรัส HIV จริง ซึ่งเป็นยาที่มีทะเบียน และเป็นยาควบคุมพิเศษ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการโฆษณาแสดงสรรพคุณยาควบคุมพิเศษ และ โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้กระทำความผิด

ภญ.สุภัทรา เน้นย้ำว่า อย. ขอเตือนไปยังผู้ป่วยโรค HIV อย่าหลงเชื่อซื้อยาดังกล่าวมารับประทานเองโดยเด็ดขาด ยาประเภทนี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยยาต้านเชื้อไวรัส HIV มีผลทำให้จำนวนเชื้อไวรัสลดลง เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวมากขึ้น ทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคฉวยโอกาสลดลง และสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้หายขาดได้ ผู้ป่วยต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางรายรับประทานยาไปแล้วมีอาการดีขึ้นหยุดยาเอง ทั้งที่ยังไม่หาย ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยาในภายหลังได้ ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่มีราคาสูง ทั้งยังพบอาการอันไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงจากยาตัวอื่นที่พบได้บ่อยกว่า หรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงกว่าเดิม

ผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งกฎหมายยังกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งการกระทำผิดจากการขายยามีด้วยกันหลายกรณี เช่น ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัย จึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้าน ในการซักถามประวัติการแพ้ยาจากคนไข้ ยาถือว่ามีทั้งคุณและโทษไม่ควรซื้อยาออนไลน์หรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือ ยาปลอมได้มาตรฐานหรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร หรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่