'สูงวัยอย่างมีสุข เปี่ยมคุณภาพ' ม.ราชภัฏภูเก็ต เดินหน้าขับเคลื่อนหลักสูตรผู้สูงอายุ ทม.ป่าตอง

ภูเก็ต - มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เดินหน้าขับเคลื่อนหลักสูตรผู้สูงอายุ สืบสานโปรเจ็คท์การให้บริการหลักสูตรและพัฒนาผู้สูงอายุ โดยเริ่มลงพื้นที่เปิดห้องเรียน ด้วยความร่วมมือกับเทศบาลเมืองป่าตอง ต่อเนื่องเป็นแห่งที่ 2 หลังจากได้มีการเปิดหลักสูตรไปแล้วที่เทศบาลตำบลรัษฎา ซึ่งมีกลุ่มคุณตา คุณยาย รวมตัวกันอย่างแข็งขัน และมีศักยภาพในการช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคม

ม.ราชภัฏภูเก็ต

วันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน 2562, เวลา 13:00 น.

จากจุดเริ่มต้นของวิทยาลัยครูภูเก็ต สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอันดามัน จัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่นทุกระดับตั้งแต่ ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา มีการวางรากฐานที่มั่นคงในด้านคุณภาพวิชาการ และความชัดเจนในการสร้างบุคลากรคุณภาพที่มีทักษะและคุณธรรมออกสู่สังคมท้องถิ่น ทว่านิยามของการศึกษามีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ประชากรผู้สูงอายุ หรือคนชรามีจำนวนมากขึ้น แต่โอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการกลับน้อยลง คำว่า “สังคมสูงวัย” จึงอยู่ในวาระแห่งชาติที่หน่วยงานต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญ ในขณะที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต มีโปรเจ็คท์ในการให้บริการหลักสูตรและพัฒนาผู้สูงอายุ โดยเริ่มลงพื้นที่เปิดห้องเรียน ด้วยความร่วมมือกับเทศบาลเมืองป่าตอง ต่อเนื่องเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากเทศบาลตำบลรัษฎา (อ่านเพิ่มเติม คลิก) ซึ่งมีกลุ่มคุณตา คุณยาย รวมตัวกันอย่างแข็งขัน และมีศักยภาพในการช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคม

ดร.อดุล นาคะโร อาจารย์สังกัดกลุ่มวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต (ที่ปรึกษาการพัฒนาหลักสูตรฯ) กล่าวถึงรูปแบบของหลักสูตรเพื่อนักเรียนสูงวัยว่า “มหาวิทยาลัยมีความตั้งใจในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกกลุ่ม อนึ่ง ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวัยอื่น ๆ มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำหลักสูตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย อันจะนำไปสู่การเป็น Smart Senior ซึ่งมีรายวิชาต่างๆ ที่จัดสอนโดยคณาจารย์ของ PKRU ได่แก่ วิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ / วิชาสารสนเทศ / และวิชาวาทการ โดยทักษะดังกล่าวเป็นการวางรากฐานของหลักสูตร เพื่อต่อยอดการจัดการศึกษาที่หลากหลายขึ้น เน้นให้ผู้สูงวัยเรียนรู้วิชาการ / วิชาชีพ / วิชาชีวิต การขยายบทบาทในการให้บริการวิชาการแก่ท้องถิ่นของ ม.ราชภัฏภูเก็ต อย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการสำรวจความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริงและตอบสนองอย่างตรงจุด สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองป่าตอง มหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมรายวิชาเพิ่มเติมในคอร์สถัดไป ได้แก่ วิชาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ / วิชาสารสนเทศสำหรับผู้สูงอายุ / วิชากฎหมายในชีวิตประจำวัน ฯลฯ”

ด้าน นางสาวเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง ได้กล่าว ณ พิธีปิดคอร์ส หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองป่าตอง ว่า “กลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ป่าตองมีความหลากหลายทั้งคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้ที่เดินทางจากภาคต่างๆ เข้ามาทำงานยังแหล่งท่องเที่ยว กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ทำงานหนักมาครึ่งชีวิตเพราะต้องหาเลี้ยงลูกหลาน การรวมตัวทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวของผู้สูงอายุเองจึงเป็นสิ่งที่เทศบาลมุ่งหวัง ด้วยความสามารถและประสบการณ์ของคณะอาจารย์จาก ม.ราชภัฏภูเก็ต สามารถช่วยผู้สูงอายุปรับตัวให้เข้ายุคสมัย มีร่างกายแข็งแรง จิตใจแจ่มใส หากคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดี ลูกหลานก็หมดห่วงและสามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพครอบครัวที่ดีขึ้น หลังจากที่ได้เห็นพัฒนาการในหลากหลายด้านของโรงเรียนแห่งนี้ รอยยิ้มและความสุขของทุกคนบ่งบอกถึงคุณภาพของผู้สูงอายุที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่น เทศบาลจึงได้วางแผนสนับสนุนอาคารสถานที่รองรับหลักสูตรผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้”

และในส่วนของหัวหน้าห้องหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองป่าตอง นางณัฏชา ไกรทอง กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้สูงอายุหลังจากได้ศึกษาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ว่า “มีความสามัคคี กลมเกลียวมากขึ้นในกลุ่ม และมีความกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงออก ทักษะด้านต่าง ๆ ถูกพัฒนาต่อยอดทั้งด้านบุคลิกภาพและการแสดง ในนามของกลุ่มผู้สูงอายุขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่บริการหลักสูตรเพื่อชุมชน อาจารย์ทุกคนนอกจากมีความสามารถแล้ว ยังมีความจริงใจและห่วงใยนักเรียนทุกคนเหมือนเป็นครอบครัว”

สำหรับอีกบุคคลสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนหลักสูตร คือ นางสาวระพีพรรณ ด้วงรักษา ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองป่าตอง กล่าวว่า “เทศบาลได้พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แต่การเกิดขึ้นของหลักสูตรผู้สูงอายุ ที่เทศบาลได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และรวมตัวกันเหนียวแน่น สม่ำเสมอ เพราะเป็นกิจกรรมที่มีความสนุก มีความสุข สร้างสีสัน ตลอดจนเชิดชูถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ลบภาพของผู้สูงวัยอยู่ติดบ้าน”

ม.ราชภัฏภูเก็ต จัดการศึกษาและการให้บริการท้องถิ่น โดยยึดโยงความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ จากประสบการณ์ที่สั่งสมตลอดหลายสิบปี มหาวิทยาลัยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาท้องถิ่นให้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง บุคลากรของมหาวิทยาลัยจะต้องลงพื้นที่ร่วมมือกับชุมชน หรือที่เรียกว่า Social Lab เพื่อศึกษา เรียนรู้ และออกแบบวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดประโยชน์กับท้องถิ่น สำหรับหลักสูตรผู้สูงอายุดังกล่าวนอกจากจะสามารถสร้างการตื่นตัวแก่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเป้าหมายแล้ว ยังเป็นพัฒนาการที่สำคัญของมหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์หลักสูตรพิเศษ เพื่อประชาชนทุกกลุ่ม อันเป็นการตอกย้ำในการเป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

 

แจ้งข่าว..คลิกที่นี่